กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นหนึ่งในสามของประเทศไทย และมีอัตราการรอดชีวิตต่ำ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม การรักษาที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดเปลี่ยนตับหรือผ่าตัดก้อนมะเร็งออก แต่สำหรับผู้ป่วยจำนวนมากมะเร็งตับได้ลุกลามไปมากจนไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็ง ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่สามารถผ่าตัดได้แม้ว่าก้อนมีขนาดเล็กก็ตาม ทำให้รังสีร่วมรักษา (Interventional Radiology, IR) เข้ามามีบทบาทร่วมรักษามะเร็งตับกับแพทย์สาขาอื่นๆ โดยรักษาได้ด้วยการใช้เข็มความร้อนขนาดเล็กเผาทำลายก้อนมะเร็ง และการให้ยาเคมีบำบัดเข้าทางหลอดเลือดของตับโดยตรงด้วยวิธีการใส่สายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กเข้าไปในเส้นแดงของตับ ตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัดแล้วทำการอุดหลอดเลือดนั้นๆ ซึ่งเป็นการรักษาที่ปลอดภัย แต่ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องมารับการให้ยาหลายครั้งในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ ซึ่งการรักษาวิธีนี้ยังนำไปใช้สำหรับและสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีการแพร่กระจายมายังตับ และยาเคมีบำบัดไม่สามารถควบคุมโรคในตับได้
แพทย์หญิงเอกอนงค์ วรกิตสิทธิสาธร รังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า "ปัจจุบันมีวิทยาการใหม่ที่ได้ศึกษาและเป็นที่ยอมรับทั่วโลกสำหรับการรักษามะเร็งตับระยะกลางและมะเร็งตับที่ลุกลามจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่กระจายมายังตับ ด้วยการใช้สารเภสัชรังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งแทนการใช้ยาเคมีบำบัด ซึ่งสารเภสัชรังสีที่ถูกนำมาใช้คือ ยิดเทรียม 90 (Yittrium90) ซึ่งปล่อยรังสีเบต้า (B-ray) มีคุณสมบัติให้พลังงานสูงแต่อำนาจทะลุทะลวงต่ำสามารถเผาทำลายก้อนมะเร็งเฉพาะจุดที่ต้องการ แต่ไม่มีรังสีแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น หรือบุคคลข้างเคียง ในการรักษาแพทย์จะทำการตรวจหลอดเลือดของผู้ป่วย เพื่อวางแผนการให้สารเภสัชรังสี จากนั้นจึงคำนวณปริมาณรังสีที่ต้องการใช้รักษา เมื่อได้บริเวณที่ต้องการรักษาและปริมาณรังสีที่เหมาะสม จึงทำการฉีดอนุภาคที่ฉาบด้วยสารกัมมันตรังสี Y-90 (Yittrium90) ผ่านทางสายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กเข้าไปในตับ ดังนั้นปริมาณของรังสีที่จะให้ในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและความแข็งแรงของตับ การรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจะใช้เวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 2-3 วัน ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือทำการรักษาเพียง 1-2 ครั้ง และผู้ป่วยไม่ต้องรับยาเคมีบำบัดจึงไม่มีผลข้างเคียงจากยาเคมีหลังการรักษาผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และต้องเข้ารับการตรวจติดตามผลด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan), เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์เพื่อดูการทำงานของอวัยวะเป้าหมาย (PET/CT) รวมทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูการทำงานของตับและการตรวจหาค่ามะเร็ง"
ขณะนี้ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ให้การบริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับและมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่แพร่กระจายมาที่ตับด้วยสารเภสัชรังสี Y-90 (Yittrium90) โดยสามารถให้บริการได้ตั้งแต่เริ่มวินิจฉัย รักษาจนกระทั่งถึงการตรวจติดตามผลด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือที่ทันสมัยทุกประเภท และนวัตกรรมการรักษาเทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล นอกจากนี้ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเหลือและเพิ่มประสิทธิภาพการรักษามะเร็งด้วยสารกัมมันตรังสีสำหรับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ในประเทศไทย โดยเมื่อเร็วๆนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์มีโครงการวิจัยร่วมกับสถาบันต่างประเทศชั้นนำเพื่อใช้สารเภสัชรังสี Y-90 (Yittrium90) มาใช้สำหรับรักษามะเร็งทางเดินน้ำดีในระยะที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ เนื่องจากผลการรักษามะเร็งทางเดินน้ำดีตอบสนองต่อการให้ยาเคมีบำบัดไม่ดีนัก ซึ่งปัจจุบันมีรายงานพบว่าสถิติของประชากรไทยโดยเฉพาะในภาคอิสานและภาคเหนือ มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากเนื้อร้ายในท่อน้ำดีสูงถึง 60-70 คนต่อวันหรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 3 ราย
Y-90 มิติใหม่ของการรักษามะเร็งตับและมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่แพร่กระจายมายังตับด้วยสารกัมมันตรังสีทดแทนการใช้ยาเคมีบำบัด ลดระยะเวลารักษา ไม่มีผลข้างเคียงจากยาเคมี เสริมสร้างคุณภาพชีวิติที่ดีกว่าให้กับผู้ป่วยมะเร็งตับ
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดต่อเข้ารับคำปรึกษาได้ที่หน่วยรังสีวินิจฉัยและรังสีร่วมรักษา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ หลักสี่ โทร.02-576-6334 ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น.
หรือ Call Center โทร.02-576-6000