กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--เฟลชแมน ฮิลลาร์ด
จากวรรณกรรมพื้นบ้านที่เคยอ่านในวัยเด็กอย่าง "ตำนานดาวลูกไก่" ว่าด้วยเรื่องราวของความกตัญญู นางสาว ปาลฉัตร ยอดมณี นักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ถ่ายทอดเรื่องราวอันน่าประทับใจของลูกไก่ทั้งเจ็ดตัว ลงบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ สร้างสรรค์ผลงานผ่านจินตนาการ และเทคนิคการปิดทองคำเปลวผสมผงมุก สื่อออกมาให้เห็นเป็นภาพไก่ที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายบนภาพพื้นหลังสีดำ ภายใต้ชื่อ"โลกหลังความตายของลูกไก่" ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับอุดมศึกษา จากโครงการ "จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช" ปีที่ 10
"ด้วยความที่มีความทรงจำดีๆ จากวรรณกรรมเรื่อง "ตำนานดาวลูกไก่" จึงใช้เวลาไม่นานเลยในการตัดสินใจสร้างงานศิลปะด้วยแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมเรื่องนี้ เนื่องจากชอบในแง่คิดว่าด้วยเรื่องความกตัญญู จนก่อให้เกิดเป็นความดีงามบนโลก" ปาลฉัตร กล่าว
"โลกหลังความตายของลูกไก่" เป็นหนึ่งในสี่ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ "จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช"ในปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "กตัญญู รู้คุณ สร้างสรรค์สิ่งดีงาม" โดยมอบรางวัลให้แก่นักเรียน นักศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 43 รางวัล และสถาบันการศึกษา 25 สถาบัน รวมทุนการศึกษาทั้งสิ้น 1,335,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีแก่ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษา
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เดินหน้าส่งเสริมเยาวชนไทยให้เห็นความสำคัญของภาษาและวรรณกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ "จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช" ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ปี2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่านของประเทศ และส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ
จนในปัจจุบัน โครงการ "จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช" เปรียบเสมือนสถาบันที่หล่อหลอม นักอ่าน นักวาด นักจินตนาการมากมายกว่า 10,000 คน ผู้ร่วมโครงการจะได้อ่านวรรณกรรมไทยหลากหลายประเภททั้งบท พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ วรรณกรรมในชั้นเรียน วรรณกรรมพื้นบ้าน และวรรณกรรมร่วมสมัยกว่า 1,750 เรื่อง
ผูกโยงศิลปะสองแขนงด้วยจินตนาการ
นายพลวัฒน์ สามิดี นักเรียนมัธยมปลาย จากโรงเรียนศรีสงครามวิทยา จังหวัดเลย ผู้ชนะรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ใช้เวลาหนึ่งเดือนในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากสีอะคริลิกบนผืนผ้าใบ ภายใต้ชื่อ "ผีเสื้อและดอกไม้" โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมในชื่อเดียวกัน เผยว่า การเข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้เขามีโอกาสได้อ่านและคิดตาม จนกระทั่งสามารถจินตนาการออกมาเป็นงานศิลปะ
"ผมมีโอกาสอ่านวรรณกรรมเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ อยู่หลายรอบ จนสะดุดกับเรื่องราวความกตัญญูของเด็กชายที่รับจ้างขนข้าวผ่านชายแดนเพื่อช่วยพ่อและน้อง ทำให้ตัดสินใจเลือกวรรณกรรมเรื่องนี้ สร้างงานศิลปะขึ้นมา และรู้สึกดีใจมากครับที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ" พลวัฒน์กล่าว
ขณะที่ เด็กชายพันกร เพชรนาค โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ธวัชบุรี ผู้ชนะเลิศการประกวดในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กับผลงาน "โคจอมพลังยอดกตัญญู" ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมเรื่อง กัณหชาดก กล่าวว่า การเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ ทำให้มีโอกาสอ่านหนังสือหลายเรื่อง เพื่อหาเนื้อเรื่องที่รู้สึกประทับใจมากที่สุด
ภายใต้โครงการ "จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช" นักเรียน และนักศึกษาจะต้องอ่านและคัดเลือกวรรณกรรมไทยที่ตนเองชื่นชอบ ในบทหรือตอนที่ตรงกับหัวข้อ "กตัญญู รู้คุณ สร้างสรรค์สิ่งดีงาม" แล้วใช้จินตนาการถ่ายทอดวรรณกรรมที่อ่าน ออกมาเป็นภาพวาดที่ใช้เทคนิคลายเส้น หรือเทคนิคสีที่ตนเองถนัด โดยผลงานทั้งหมดได้รับการตัดสินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งด้านทัศนศิลป์ และวรรณศิลป์ ประกอบด้วย สายทัศนศิลป์ ได้แก่ คุณเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2554, คุณปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2557, คุณสังคม ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร สายสื่อมวลชน คุณธวัชชัย สมคง บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Fine Art และสายวรรณศิลป์ ได้แก่ คุณเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตไทย, คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2555 และในปีนี้ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2536 มาร่วมเป็นกรรมการตัดสินในสายวรรณศิลป์อีกท่านหนึ่งด้วย
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน สายวรรณศิลป์ เผยว่า "ศิลปะ ไม่ว่าจะแขนงใด ก็สามารถผูกสัมพันธ์โยงใยถึงกันและกันได้ ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องดีที่ได้เห็นงานศิลปะที่สวยงามเหล่านี้ภายใต้โครงการ "จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช" จนรู้สึกแปลกใจว่าเขาคิดเรื่องนี้มาได้อย่างไร นอกจากผลงานชุดผีเสื้อและดอกไม้แล้ว ยังมีผลงานอย่าง "อัศวินยอดกตัญญู" ของเด็กชายอภินันท์ สุวรรณศรี จากโรงเรียนสมคิดจิตต์วิทยา ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประถม ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากนิทานราชสีห์กับหนู ซึ่งเขาใช้เมล็ดข้าวในการสร้างผลงานขึ้นมา ไม่น่าเชื่อว่าเป็นของเด็กประถม แต่ก็แสดงให้เห็นพลังสร้างสรรค์ของเด็กจริงๆ จากนิทานง่ายๆ ก็สามารถนำมาผูกพันกับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติได้"
ด้านนายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน สายทัศนศิลป์ กล่าวว่า "การสร้างภาพประกอบนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การสร้างสรรค์งานศิลปะที่เปี่ยมด้วยอารมณ์และความรู้สึกที่มีต่อวรรณกรรมเรื่องหนึ่งๆ นั้น กลับไม่ใช่เรื่องง่าย คณะกรรมการเลือกภาพที่ได้รับรางวัลจากอารมณ์ที่ภาพเหล่านั้นสื่อออกมา...สำหรับการประกวดในปีที่ 10 นี้ เราได้เห็นการพัฒนามากมายของเด็กและเยาวชน ซึ่งผลงานเหล่านี้สามารถทำให้คณะกรรมการรู้สึกประหลาดใจได้อีกเช่นเคย เราได้เห็นพัฒนาการของคนที่เคยส่งผลงานเข้าประกวด รวมไปถึงความสามารถของผู้เข้าประกวดหน้าใหม่ คาดได้เลยว่าปีหน้าจะต้องมีผลงานที่ตื่นเต้นมากกว่านี้อีกแน่"
ส่งเสริมการศึกษาและนวัตกรรม เพื่อรากฐานที่แข็งแกร่งของไทย
นายฟิลิป เชียง ชอง แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะบริษัทแห่งเทคโนโลยี และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม อินทัช ให้ความสำคัญต่อการสร้างสรรค์ความคิดนอกกรอบ และเล็งเห็นความสำคัญของการให้การสนับสนุนและอนุรักษ์ศิลปะ การปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ด้วยตระหนักดีว่าทักษะเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเป็นศิลปิน โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่นำเสนอความเสมือนจริง ซึ่งต้องอาศัยความสามารถด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์มาเป็นองค์ประกอบ
"คนรุ่นต่อไปคืออนาคตของเรา ผมคิดว่าด้วยโครงการต่างๆ เกี่ยวกับการสนับสนุนศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม จะเป็นสิ่งที่อินทัชมุ่งมั่นเดินหน้าต่อไปเพื่อมอบอนาคตที่ดีให้ประเทศไทย ในฐานะบริษัทและประชาชนคนหนึ่งในประเทศ" นายฟิลิป กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจผลงานของเยาวชน อินทัช ได้จัดนิทรรศการผลงานที่ได้รับรางวัล ณ อาคารเอไอเอส 1 (ถ.พหลโยธิน ซอย 8) ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 28 ตุลาคม 2559 ผู้ที่สนใจสามารถซื้อผลงานการกุศล รายได้จากการจำหน่ายทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายสมทบทุนมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เพื่อสนับสนุนการศึกษาของนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้มีโอกาสทางการศึกษา เพื่อกลับไปทำประโยชน์ให้แก่ภูมิลำเนาของตน สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.intouchcompany.com