กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
คณะกรรมาธิการร่วมความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ไทย-นิวซีแลนด์ เปิดโต๊ะเจรจา ร่วมทบทวนมาตรการปกป้องพิเศษ หรือ SSG ในสินค้าที่กำหนด โดยไทยเสนอขอโครงการความร่วมมือด้านปศุสัตว์จากนิวซีแลนด์ หวังพัฒนาศักยภาพการผลิตและพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยเพื่อรองรับการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต
นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ไทยและนิวซีแลนด์ ได้จัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ไทย-นิวซีแลนด์ (Thai - New Zealand Closer Economic Partnership: TNZCEP) ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา โดยไทยได้แจ้งให้นิวซีแลนด์ทราบถึงสินค้าที่สิ้นสุดมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard: SSG) ซึ่งเป็นมาตรการปกป้องสินค้าเกษตรที่มีความอ่อนไหว ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 จำนวน 6 รายการ ได้แก่ นมผงและครีม บัตเตอร์มิลค์ น้ำผึ้ง ส้มแมนดาริน องุ่น และมันฝรั่ง
นอกจากนี้ ไทยได้มีการดำเนินการทบทวนมาตรการ SSG โดยคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มปริมาณนำเข้า Trigger Volume ในสินค้าSSG จำนวน 6 รายการ ได้แก่ หางนม (ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 20) ไขมันเนย เนยแข็งสด เนยแข็งฝอย เนยแข็งผ่านกรรมวิธี และเนยแข็งอื่นๆ (ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 10) โดยการปรับเพิ่มปริมาณTrigger Volume ดังกล่าว ไทยจะต้องใช้เวลาเพื่อดำเนินการภายในทางกฎหมายเพื่อปรับแก้เอกสารแนบท้ายความตกลง TNZCEP
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่มีมาตรการ SSG ตามความตกลง TNZCEP ที่จะสิ้นสุดในอีก 4 ปีข้างหน้า (วันที่ 31 ธันวาคม 2563) อีกจำนวน 18 รายการ เช่น เนื้อโค กระบือและเครื่องใน เนื้อสุกรและเครื่องใน นมและครีม เนย และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของนม
ทั้งนี้ ไทยได้เสนอขอโครงการความร่วมมือด้านปศุสัตว์ 3 โครงการจากนิวซีแลนด์เป็นการแลกเปลี่ยนสำหรับการขยายเพิ่มปริมาณ Trigger Volume ได้แก่ โครงการพัฒนาเทคโนโลยีแปลงปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตอาหารสัตว์ โครงการพัฒนามาตรฐานและคุณภาพผลิตภัณฑ์โคนมไทย และโครงการพัฒนาเกษตรกรสมัยใหม่เพื่อพัฒนาแนวคิดและการบริหารจัดการฟาร์ม โดยนิวซีแลนด์รับที่จะนำโครงการดังกล่าวไปพิจารณาและรายงานความคืบหน้าให้ไทยทราบต่อไป ทั้งนี้ นิวซีแลนด์ นับเป็นประเทศที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสินค้าปศุสัตว์ จึงเป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตและพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยให้เร่งปรับตัวเพื่อรองรับการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคตต่อไป