กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--WWF -Thailand
รายงานล่าสุดจากองค์การเครือข่ายควบคุมการค้าสัตว์ป่า (TRAFFIC) และกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ยืนยันว่าปริมาณการลักลอบค้าเสืออย่างผิดกฎหมายไม่ลดลงเลยทั่วภูมิภาคเอเชีย ดังที่ได้มีการตรวจยึดชิ้นส่วนอวัยวะของเสือไม่น้อยกว่า 1,755 ตัว ในช่วงระหว่างปี 2543-2558 ซึ่งเฉลี่ยแล้วเท่ากับมีเสือถูกฆ่าตายมากกว่าสัปดาห์ละ 2 ตัว
รายงานเรื่อง เหลือเพียงกระดูกและหนัง ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ก่อนที่จะมีการอภิปรายหารือเกี่ยวกับการลักลอบค้าเสืออย่างผิดกฎหมายในที่ประชุมว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ พบว่ามีการตรวจยึดเสือและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเสือทั่วภูมิภาคเอเชียรวม 801ตัว ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา
ปัจจุบันมีเสือโคร่งเหลืออยู่ในป่าธรรมชาติราว 3,900 ตัว ดังนั้นหลักฐานที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ นี้ สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าเสือเหล่านี้มีที่มาจากสถานที่เพาะพันธุ์เสือ นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้กันว่าอย่างน้อยร้อยละ 30 ของเสือที่ตรวจยึดได้ในช่วงระหว่างปี 2555-2558 ล้วนแต่มาจากสถานที่เพาะพันธุ์เสือ
แม้จะมีรายงานว่า มีการตรวจยึดเสือได้จำนวนมากที่สุดในประเทศอินเดีย ทว่า ยังมีหลักฐานที่แสดงว่าผู้ลักลอบค้าเสือยังคงเลือกใช้เส้นทางเดิมตามแนวจากประเทศไทยสู่ประเทศเวียดนามโดยผ่านทางประเทศลาว ซึ่งทั้งสามประเทศนี้เป็นประเทศที่มีสถานที่เพาะพันธุ์เสือเพิ่มจำนวนมากขึ้น
"รายงานฉบับนี้ เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าการลักลอบค้าเสือ อวัยวะ และผลิตภัณฑ์จากเสืออย่างผิดกฎหมาย ยังคงมีอยู่ และเป็นประเด็นที่สำคัญต่อการอนุรักษ์ แม้ว่ารัฐบาลต่าง ๆ จะให้คำมั่นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าจะทำการปิดสถานที่เพาะพันธุ์เสือทั่วภูมิภาคเอเชีย แต่สถานที่เพาะพันธุ์เสือกลับผุดจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นตัวการสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการค้าเสืออย่างผิดกฎหมาย" สตีเว่น บรอด ผู้อำนวยการองค์การเครือข่ายควบคุมการค้าสัตว์ป่า (TRAFFIC) กล่าว
ในสัปดาห์นี้ คณะผู้แทนจากมากกว่า 180 ประเทศจะร่วมหารือกันในที่ประชุมภาคีสมาชิกประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกลสู้ญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) ครั้งที่ 17 เหล่านักอนุรักษ์จึงเรียกร้องให้ประเทศที่มีสถานที่เพาะพันธุ์เสือ ไม่ว่าจะเป็น ประเทศจีน เวียดนาม ไทย และลาว ตกลงให้คำมั่นและระบุระยะเวลาที่ชัดเจนในการทยอยปิดสถานที่เพาะพันธุ์เสือให้หมดไปในที่สุด
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศลาวประกาศว่าจะหารือแนวทางในการทยอยปิดสถานที่เพาะพันธุ์เสือในประเทศของตน หลังจากที่ที่ประชุมภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกลสู้ญพันธุ์ (CITES) ระบุว่า ประเทศลาวขาดมาตรการและนโยบายควบคุมการค้าสัตว์ป่า ส่วนประเทศไทยก็ได้ลงมือจัดการกับวัดเสือที่มีปัญหาเกี่ยวกับการค้าเสืออย่างผิดกฎหมายแล้ว อีกทั้งยังให้คำมั่นว่าจะตรวจสอบสถานเพาะพันธุ์เสือทุกแห่งในประเทศของตน
"เครือข่ายอาชญากรรมหันมาลักลอบค้าเสือจากสถานที่เพาะพันธุ์ทั่วทวีปเอเชียมากขึ้น พยายามใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย และจัดหาสินค้าป้อนสู่ตลาด ประเทศที่มีประชากรเสือต้องยุติการทำฟาร์มเสือทันที มิเช่นนั้นแล้ว เสือที่อาศัยอยู่ในป่าตามธรรมชาติจะต้องเผชิญกับอนาคตที่จะกลายเป็นผืนหนังและโครงกระดูก" จีเน็ต เฮมลีย์ หัวหน้าคณะผู้แทนจาก WWF ในที่ประชุม CITES กล่าว"ประเทศลาวและไทยประกาศว่าจะก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่พวกเขาจำเป็นต้องลงมือปฏิบัติทันที และประเทศอื่น ๆ ก็ควรจะก้าวย่างไปในเส้นทางเดียวกันเพื่อ "ยุติการทำฟาร์มเสือ""
รายงานฉบับนี้ได้เน้นย้ำถึงตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของการตรวจยึดเสือที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะในประเทศไทยและเวียดนามที่ตรวจยึดได้ 17 ตัวในช่วงระหว่างปี 2543-2557 และ 186 ตัวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นนี้น่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำฟาร์มเสือที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ล่าสุดพบว่าประเทศเวียดนามมีการจับกุมการลักลอบค้าสัตว์ป่ามากที่สุด และได้กลายเป็นประเด็นในที่ประชุม CITES เนื่องจากการจัดการกับการลักลอบค้างาแรด งาช้าง และเสืออย่างผิดกฎหมายของประเทศเวียดนามไม่มีความคืบหน้าขึ้นเลย
ทั้งนี้ ในที่ประชุมประเทศภาคีอนุสัญญา ฯ ครั้งที่ 17 ผู้แทนจากประเทศอินเดียเสนอให้รัฐบาลต่าง ๆ ร่วมแบ่งปันหลักฐานภาพถ่ายหนังเสือที่ตรวจยึดได้เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายจากกล้องดักถ่ายภาพเสือในธรรมชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล และเป็นการร่วมมือกันต่อกรกับการล่าสังหารเสือ เสือแต่ละตัวมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ เปรียบเสมือนลายนิ้วมือของคน วิธีนี้จะช่วยให้องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องและนักชีววิทยาด้านเสือสามารถพิสูจน์รูปพรรณของเสือที่ถูกล่าและติดตามที่มาของเสือนั้นได้
การค้าเสือและผลิตภัณฑ์จากเสือเป็นสิ่งต้องห้ามทั่วโลกมาหลายทศวรรษแล้ว ทว่าการล่าสังหารเสือเพื่อการค้าอย่างผิดกฎหมายกลับยังคงเป็นภัยคุกคามอันร้ายแรงที่สุดต่อความอยู่รอดของเสือ
"การตัดสินใจที่สำคัญนั้นไม่สามารถชะลอไปจนถึงการประชุม CITES ครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นในอีก 3 ปีได้ เพราะจะเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการบั่นทอนความสำเร็จในการอนุรักษ์เสือที่เพิ่งจะเพิ่มจำนวนขึ้นได้" เฮมลีย์กล่าว
สามารถดาวโหลดเอกสารสรุปได้ที่ www.traffic.org/Reduced-to-Skin-and-Bones.pdf