กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
"เป้าหมายของเราที่ทำงานกับเด็กคือต้องการให้เขามีภูมิคุ้มกันกับจิตอาสาเป็นหลัก ภูมิคุ้มกันเรื่องสุขภาพ อาชีพ ความรับผิดชอบ ส่วนจิตอาสาก็พยายามสนอให้เขารู้ว่าเขาต้องทำประโยชน์เพื่อชุมชน เพราะว่าการทำประโยชน์เพื่อคนอื่น มันก้าวข้ามการทำประโยชน์เพื่อตัวเองไปแล้วคือ ถ้าเขามองว่าเขาทำประโยชน์เพื่อตัวเอง คือเขารับผิดชอบตัวเองได้แล้ว ก็ให้ไปทำประโยชน์เพื่อคนอื่นด้วย"
วสันต์ จิตแฉล้ม นักพัฒนาชุมชน แจงเป้าหมายของการทำงานด้านเด็กและเยาวชน ของอบต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ที่จัดกิจกรรมเรียนรู้อย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลาหนึ่งปี ทั้ง เข้าค่ายส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม โครงการการส่งเสริมท่องเที่ยวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมปลูกป่าชายเลน กิจกรรมร่วมกับชุมชน เป็นต้น โดยมีทีมนักถักทอชุม (ผู้เข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชน) ประกอบด้วย พรพิชัย สกุลหนู นักวิชาการศึกษา และมลรักษ์ สุทธิรักษ์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ร่วมกับโรงเรียน และผู้ใหญ่ใจดี พาเด็กและเยาวชนในพื้นที่เรียนรู้ทั้งในโรงเรียนและชุมชน เพื่อเยาวชนของตนห่างไกลสิ่งล่อแหลมต่างๆ และคาดหวังปั้นเยาวชนเหล่านี้ให้ กลับมาเป็นดูแลชุมชนในอนาคต
มานะจิตต์ รัตนมณี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดนากุน อายุ 39 ปี ร่วมสะท้อนการเห็นความสำคัญส่งนักเรียนเข้าร่วมว่า "การให้นักเรียนมาเข้าร่วมกิจกรรมตรงนี้ โรงเรียนก็มีแนวคิดการพัฒนาคุณภาพนักเรียน นอกจากเรื่องเนื้อหาวิชาการสำหรับการสอบเข้าแล้ว ยังมีเรื่องคุณธรรม จริยธรรมที่ครูจะสอดแทรกลงไปในการเรียนการสอนในชั่วโมงเรียนอยู่แล้ว และเราเห็นว่าการสอนเรื่องคุณธรรม จริยธรรม จะให้เข้าถึงตัวผู้เรียนจริงๆ ต้องไปสู่การปฏิบัติ เราจึงเข้าร่วมกิจกรรมกับอบต. มาตลอด การให้เด็กลงมือปฏิบัติ ตัวผมเองก็เชื่อเพราะเราเองก็ผ่านประสบการณ์การเป็นเด็กมา คิดว่าจะสามารถนำไปใช้ในชีวิต ครอบครัว ใช้กับชุมชน เด็กกลุ่มนี้แหละที่จะโตมาเป็นผู้ปกครองรุ่นใหม่ เป็นผู้นำชุมชน และจะพาชุมชนของเราทำกิจกรรมดีๆ ให้แก่เยาวชนในอนาคตต่อไป ไม่ได้พูดเฉพาะที่โรงเรียนเราเท่านั้น ที่อบต.สระแก้วทุก 6 โรงเรียนมีแนวคิดเดียวกัน เราก็ภูมิใจว่าเด็กไปร่วมกิจกรรมกลับมาเรียบร้อยขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น การส่งเสริมเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเราต้องการต่อยอดให้เขากลับมาเป็นผู้นำชุมชน จุดนี้จะเป็นการช่วยเสริมต่อยอดซึ่งกันและกันระหว่ง อบต.และโรงเรียน และผมยืนยันได้ว่าเด็กที่ทำกิจกรรมผลการเรียนไม่ตก ผมคิดว่าการพัฒนาเยาวชนแบบนี้ เรามาถูกทางแล้ว"
คุณครูสุดารัตน์ หน้าหู อายุ 32 ปี สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของลูกศิษย์ "รู้สึกดีมากๆ ค่ะ เห็นเด็กนักเรียน ป.4- ป.5 ที่ส่งเข้าร่วมมีความเปลี่ยนแปลงชัดเจน จากเด็กที่ไม่กล้าพูดก็กล้าพูดได้ บางอย่างเกินกว่าที่เราคาดไว้ เราไม่คิดว่าเขาจะพูดได้ขนาดนี้ เขาก็คิดได้ พูดได้ ทำได้ เกิดความคาดหมาย เด็กบางส่วนเราก็คิดว่าเขาไม่รับผิดชอบแน่เลย เราต้องเขาไปดู แต่ความจริงไปดูแล้วเขาจัดการตัวเองได้ ส่วนเรื่องการเรียนของพวกเขาก็ดีขึ้น แล้วก็คิดว่าสำหรับเด็กที่เรียนไม่เก่งนัก การทำกิจกรรมตรงนี้ สามารถเสริมประสบการณ์ของเขาและทำให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตได้ นักเรียนทำได้ ครูก็รู้สึกภูมิใจค่ะ" นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนที่ส่งเด็กนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมของอบต.ได้แก่ โรงเรียนสาธิตเทศบาลวัดประสิทธิ์ โรงเรียนสระแก้วรัตนวิทย์ โรงเรียนชุมชนวัดสระแก้ว โรงเรียนกัลยาณี โรงเรียนวัดนาบัว โรงเรียนวัดนากุน เป็นต้น
และที่สำคัญการที่ได้รับความร่วมมือจากผู้ใหญ่ใจดีในชุมชนทำให้งานเยาวชนเคลื่อนตัวไปได้เร็ว ผู้ใหญ่ใจดีมาร่วมสะท้อนวันนี้ อาทิ ป้าสุรีย์ ชูประสูติ อายุ 65 ปี เป็นคนอยู่หมู่ 6 มาร่วมกิจกรรมกับอบต.เพราะเห็นประโยชน์ที่กิจกรรมเหล่านี้ ช่วยสร้างเสริมเด็กให้มีจิตอาสา เสียสละ และเข้ากับชุมชนได้ มีส่วนร่วมกับสังคม และบุญเรือน ยกย่อง หรือพี่ยา กรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรประจำตำบลสระแก้ว ที่เข้าร่วมกับอบต.ได้ 5 ปี แล้ว เพราะเป็นผู้ปกครองพาหลานทั้งสองคนได้แก่ น้องกัน ด.ญ. ชนัญญา ยกย่อง อายุ 11 ปี และน้องแก้ม ด.ญ.ธนพร ยกย่อง อายุ 14 ปี มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของหลานทั้งสองชัดเจน หลานมีความรับผิดชอบมากขึ้น จากเมื่อก่อนไม่รู้หน้าที่ แต่ตอนนี้กลับจากโรงเรียนก็หุงข้าว ล้างจน ซักผ้าเอง ถือว่าช่วยแบ่งเบาภาระได้มาก การให้เด็กๆ มาร่วมกิจกรรมตรงนี้ อย่างน้อยก็ได้ฝึกเด็กไปด้วย เพราะว่าเด็กวัยนี้ค่อนข้างจะเสี่ยง สิ่งแวดล้อมบางทีมียาเสพติด หรือเด็กติดเกม ติดเพื่อนก็มาก หากเราพามาทำกิจกรรมร่วมกัน อย่างน้อยเขาก็ไปใส่ใจสิ่งไม่ดีน้อยลง มีเพื่อน ผู้ใหญ่ที่ทำกิจกรรมด้วยกันมีอะไรก็หันหน้าปรึกษากันได้"
เยาวชนร่วมกิจกรรม ร่วมกันสะท้อนว่า "เราไปเก็บขยะที่ชายทะล ทะเลบ้านเราก็สวยแต่มีขยะเยอะมาก คนมาเที่ยวทิ้งขยะตามซอกหิน เราก็เป็นจิตอาสาไปช่วยรักษา ไปเก็บขยะ..การเข้าร่วมโครงการทำให้หนูกล้าแสดงออกมากขึ้น ทำให้ขยันมากขั้น อยู่บ้านก็ช่วยเลี้ยงน้อง รู้จักซักผ้า ถุงเท้า รองเท้าตัวเอง รับผิดชอบตัวเองมากขึ้น" เยาวชนแกนนำ อาทิ ด.ญ.อารียา (เมย์) อายุ 14 ปี โรงเรียนสาธิตเทศบาลวัดประสิทธิ์ 2. ด.ญ.วิภาวี กันตี (มายด์) ม.2 โรงเรียนสระแก้วรัตนวิทย์3. ด.ญ.ชนันญา ยกย่อง (กัน) อายุ 14 ปี โรงเรียนชุมชนวัดสระแก้ว 4. ด.ญ.ธนพร ยกย่อง (แก้ม) ม.2 โรงเรียนสระแก้วรัตนวิทย์ 5. นายภูมินทร์ มั่นทอง อายุ 15 ปี ม.3 โรงเรียนกัลยาณี 6. ด.ญ.พานิน วรกุล (แชมพู) ป.5 โรงเรียนวัดนาบัว7. ด.ช.รุ่งพยา เรืองสุวรรณ (พี) อายุ 11 ปี ป.5 โรงเรียนวัดนากุน 8. ด.ญ.ทิพย์พา เป็นตามเหตุ (ใบตาล) อายุ 12 ปี ป.6 โรงเรียนวัดนากุน 9. ด.ญ.รุ่งทิพย์ สุขน้อย (ไบรท์) อายุ 12 ป. 6 โรงเรียนวัดนากุน 10. ด.ญ.วรรณวสุ พูลสวัสดิ์ (ดาว) ป.6 โรงเรียนวัดนากุน 11. ด.ญ.วรรณวิสา สวนธรรม (สตางค์) ป.4 12. ด.ญ.วสุดา สีไชยเชษฐ์ ( กาญจน์) ป.4 โรงเรียนวัดนากุน
"ที่ผมเลือกเด็กเล็กมากกว่าเด็กโตเพราะคิดว่าถ้าป้องกันจะง่ายกว่าไปแก้ไข เด็กประถมทั้งตำบลมีประมาณ 150 คนต่อโรงเรียน มี 6 โรงเรียนก็ประมาณ 900 คน เด็กรุ่นนี้มีแกนนำ 15 คน คิดว่าจะขยายผลไปเรื่อยๆ ในความคิดของผม เราทำแล้วเราไม่เลิก เราจะทำแบบต่อเนื่อง ปีหน้าอบต.ก็ตั้งงบประมาณด้านเด็ก เยาวชนอย่างชัดเจน ที่เรียกว่างบประมาณการพัฒนาเด็กและเยาวชน เรื่องส่งเสริมวิชาการก็ไปอุดหนุนโรงเรียน มีโครงการแข่งขันทักษะวิชาการ เป้าหมายต่อไปผมอยากให้เด็กๆ เขาคิดเอง ทำเองได้ เกิดเครือข่ายเด็ก คิดว่าสัก 5 ปี ข้างหน้า เด็กกลุ่มนี้จะสามารถนำน้องๆ คิดได้ เรื่องกระบวนการต่างๆ ผมคิดว่าเราจะค่อยๆ ใส่ลงไปเรื่อยๆเด็กเล็ก ปีแรกให้เขาเรียนรู้โดยยังไม่ต้องคิด ปีถัดไปเราลองให้เขาเริ่มคิด ลองทำได้ไหม 3 ปีก็น่าจะได้ จริงๆ แล้ว เด็กๆ คิดได้ด้วยตนเอง โดยการเสริมของผู้ใหญ่ ไม่ใช่ว่าเขาจะคิดไม่ได้ แต่ต้องมีกระบวนการให้เขาคิดในสิ่งที่เป็นไปได้" สุดท้าย วสันต์ ชี้ชัดว่าสิ่งที่ได้จากการเข้าหลักสูตรนักถักทอชุมชน โดยอาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ (ผู้อำนวยการสรส.) คือเรื่องให้ทำแผน และก็ดำเนินงานตามแผน และให้ขยายเครือข่ายออกไป
หลักสูตรนักถักทอชุมชน อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนับโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
เยาวชนสระแก้ว เก่ง ดี มีภูมิคุ้มกัน ร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชน คือสิ่งที่อบต.สระแก้ว ตั้งเป้าหมายให้ลูกหลานของตัวเองเป็น การวางรากฐานวันนี้ตั้งแต่เด็กโดยเริ่มจากกิจกรรมการเรียนรู้ ทำให้เห็นถึงความพยายามของผู้ใหญ่ในพื้นที่นี้จริงๆ