กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายสุรพล จารุงพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย เร่งพัฒนาคุณภาพยางไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานยางแผ่นรมควัน ภายใต้มาตรฐาน GMP โดยมีสหกรณ์กองทุนสวนยางฯ ทั้ง 30 แห่งในพื้นที่ จ.ตรัง เข้าร่วมกระบวนการตรวจสอบตามมาตรฐาน ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างยางเกรดพรีเมี่ยมทั้งจังหวัด โดยล่าสุด กยท. ตรวจรับรองแล้ว 5 โรงงานของสหกรณ์กองทุนสวนยางฯ และได้รับมาตรฐานGMP ยางแผ่นรมควัน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย ต้องการพัฒนาคุณภาพยางพาราของไทยทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปรรูปขั้นกลางเป็นยางแผ่นรมควัน ซึ่งในแต่ละปีมีปริมาณการส่งออกยางแผ่นรมควันหลายล้านบาท ในปี 2558 ที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกยางแผ่นรมควันประมาณ 6.4 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 35,628 ล้านบาท เพื่อให้คุณภาพของยางแผ่นรมควันได้มาตรฐานสากล กยท. ในฐานะหน่วยงานผู้ดูแลยางพาราทั้งระบบครบวงจร ได้มีการออกใบรับรองมาตรฐาน GMP ให้กับโรงงานผลิตยางแผ่นรมควัน โดยผ่านกระบวนการตรวจสอบตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 5906-2556 เรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตยางแผ่นรมควัน (GOOD MANUFACTURING PRACTICES FOR RIBBED SMOKED SHEET) จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในเรื่องอุตสาหกรรมยาง ของ กยท. เริ่มตั้งแต่น้ำยางที่กรีดลงถ้วย ภาชนะที่ใส่ การรีดยาง การรมควัน คัดชั้นคุณภาพ การบรรจุ และขนส่ง ทุกขั้นตอนจะถูกควบคุมอย่างละเอียด
ด้าน ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ กยท. ดูแลและส่งเสริมการดำเนินงานธุรกิจแปรรูปด้วยการสร้างโรงอบ/รมยางของสหกรณ์กองทุนสวนยาง ทั่วประเทศ จำนวน 176 แห่ง และ จังหวัดตรัง เป็นหนึ่งในลำดับต้นๆ ของประเทศที่มีสหกรณ์ดำเนินธุรกิจในการแปรรูปยางแผ่นรมควันมากถึงจำนวน30 สหกรณ์ นับว่าเป็นจังหวัดตัวอย่างที่เกษตรกรและสถาบันเกษตรมีความต้องการยกระดับสินค้าของตนเอง พร้อมรับเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบตามมาตรฐาน GMP ยางแผ่นรมควัน ล่าสุด กยท. ได้ให้การตรวจรับรองมาตรฐานGMP โรงงานยางแผ่นรมควันและผ่านการรับรองแล้ว จำนวน 5 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางโพธิ์โทน จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางวังคีรี จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางคลองปาง จำกัดสหกรณ์กองทุนสวนยางหนองบัว จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองศรีจันทร์ จำกัด ทั้ง 5 สหกรณ์ดังกล่าว ได้ใช้เวลาในการประเมินอย่างเข้มงวดมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 เดือน ส่งผลให้แผ่นยางที่มาจากทั้ง 5 สหกรณ์ มีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกันทั้งความกว้าง ความยาว ความหนา และน้ำหนัก รวมทั้งลักษณะภายนอกอื่นๆ เป็นการยกระดับมาตรฐานยางแผ่นรมควันเกรดพรีเมี่ยม และยังคงมีสหกรณ์กองทุนสวนยางอีก 25 สหกรณ์ที่พร้อมจะให้ทาง กยท. เข้าตรวจให้การรับรองมาตรฐาน GMPตามแนวทางที่จะให้ทั้งจังหวัดทำยางเกรดพรีเมี่ยมมาตรฐาน GMP
ทั้งนี้ การผลักดันโรงงานผลิตยางแผ่นรมควันและโรงงานยางอัดก้อนให้ได้ตามมาตรฐาน GMP เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับประโยชน์ทั้งในเรื่องผลิตยางที่มีคุณภาพดี ภายใต้โรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล สามารถต่อรองราคาสินค้าในราคาที่สูงขึ้นได้ และยังส่งผลถึงผู้ประกอบการที่รับซื้อยางก็จะมีความมั่นใจในกระบวนการผลิต และการจัดเก็บ พร้อมทั้งมีความสะดวกในการรับซื้อมากขึ้น ซึ่งทาง กยท. จะเข้าไปตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกษตรกรรักษาคุณภาพยางให้ได้ตามมาตรฐานพรีเมี่ยมที่กำหนดไว้