กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--สำนักข่าว hfocus
ทันตแพทยสภายื่นหนังสือถึง รมว.วิทย์ แนะออกกฎกระทรวงตามปริมาณรังสีเครื่องเอ็กซเรย์ฟัน เสนอยกเว้นออกใบอนุญาตครอบครองเครื่องเอ็กซเรย์ทันตกรรมขนาดเล็ก เหตุมีปริมาณรังสีน้อยมากไม่มีผลกระทบ ส่วนเครื่องเอ็กซเรย์ทันตกรรมขนาดใหญ่ให้ออกกฎกระทรวงตามปริมาณรังสี พร้อมเตรียมเข้าพบ รมว.วิทย์ เพื่อหารือกฎเกณฑ์ที่จะออกตามมาหลังกฎหมายพลังงานนิวเคลียร์ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ 1 ก.พ.60
ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ตามที่ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป ได้กำหนดให้เครื่องกำเนิดรังสีหรือเครื่องเอ็กซเรย์ทางทันตกรรม จะต้องมีใบอนุญาตครอบครองเครื่องกำเนิดรังสีและผู้ใช้งานจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้านรังสี ซึ่งต้องสอบเพื่อรับใบอนุญาต และคลินิกทันตกรรมทุกแห่งต้องมีเครื่องเอ็กซเรย์ที่มีมาตรฐานซึ่งเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ได้บังคับไว้ ดังนั้นจะมีคลินิกทันตกรรมกว่า 6,000 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฉบับใหม่นี้ ทางทันตแพทยสภาจึงได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.นี้ และเตรียมเข้าพบเพื่อหารือประเด็นดังกล่าว
นายกทันตแพทยสภา กล่าวต่อว่า ทันตแพทยสภาสนับสนุนเจตนารมณ์กฎหมายฉบับนี้ที่เน้นเรื่องความปลอดภัยของประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขต่อผลกระทบที่อาจจะได้รับจากปริมาณรังสี แต่เครื่องเอ็กซเรย์ที่ใช้ทางทันตกรรมนั้น ปริมาณรังสีที่ใช้ต่อครั้งมีน้อยมาก จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองรังสี (International Commission on Radiological Protection: IRCP) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่เป็นผู้รวบรวมข้อมูลและคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับการใช้รังสีระดับนานาชาติ พบว่า ปริมาณรังสีที่ถ่ายด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ฟันจะมีปริมาณรังสีเพียง 0.0095mSv ถึง 0.0216mSv ขึ้นอยู่กับชนิดของฟิล์ม ในขณะที่ปริมาณรังสีสะสมที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื้อเยื่อต้องได้รับรังสีสูงถึง 500mSv หรือเท่ากับการถ่ายเอกซเรย์ฟันถึง 23,000 ถึง 52,000 ฟิล์มในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วเป็นไปไม่ได้ที่จะถ่ายภาพเอ็กซเรย์มากขนาดนั้นในคลินิกทันตกรรม อีกทั้งในการถ่ายภาพรังสีทางทันตกรรมมีการใส่เสื้อตะกั่วป้องกัน รวมทั้งมีฉากตะกั่วหรือกำแพงหนาที่สามารถกันรังสี ได้
ดังนั้นทันตแพทยสภาจึงมีข้อเสนอว่า ในการออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.นี้ สำหรับการออกใบอนุญาตครอบครองเครื่องเอ็กซเรย์ทันตกรรมรวมทั้งค่าธรรมเนียมนั้น ทันตแพทยสภาจะขอให้มีการพิจารณาออกกฎกระทรวง โดยขอให้คำนึงถึงประเภท ชนิด ขนาด หรือระดับของเครื่องกำเนิดรังสีหรือเครื่องเอ็กซเรย์ให้ตรงกับความเป็นจริงของเครื่องกำเนิดรังสีที่ใช้ทางทันตกรม โดยจะเสนอให้ยกเว้นกับเครื่องเอ็กซเรย์ทันตกรรมขนาดเล็ก ส่วนเครื่องเอ็กซเรย์ทันตกรรมที่มีขนาดใหญ่นั้นเสนอให้ออกกฎกระทรวงดูแลให้เป็นไปตามปริมาณรังสี
ทพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการสอบใบอนุญาต เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีหรือ RSO (radiation safety officer) นั้น ทันตแพทยสภาจะขอให้ทบทวนเช่นกัน เนื่องจากในหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิตมีการเรียนการสอนเรื่องนี้ และทันตแพทย์ก็ได้ผ่านการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่มีเนื้อหาของการใช้รังสีทางทันตกรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว จึงมีความรู้เพียงพอในการดูแลและใช้เครื่องมือได้ถูกต้อง ปลอดภัย
"ทันตแพทยสภาสนับสนุนเรื่องความปลอดภัยการใช้รังสีทางการแพทย์ต่อประชาชนและบุคลากรสาธารณสุข แต่จากข้อเท็จจริงที่ปริมาณรังสีจากเครื่องเอ็กซเรย์ทันตกรรมมีน้อยมาก และอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน จึงขอให้พิจารณาการออกกฎกระทรวงโดยคำนึงถึงปริมาณรังสีและความจำเป็นเป็นสำคัญซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า" นายกทันตแพทยสภา กล่าว