กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชัน
การจะพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่เศรษฐกิจยุค 4.0 โดยอาศัยฐานงานวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม สิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญคือการพัฒนากำลังคนให้เพียงพอกับความต้องการ ทำให้เป้าหมายของการผลิตนักวิทยาศาสตร์ของไทยต้องเปลี่ยนไปอีกครั้ง
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง"วิทยาศาสตร์พื้นฐานกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยุค 4.0" ในงาน "พสวท. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม" โดยชี้ให้เห็นว่าประเทศมีความต้องการนักวิจัยจำนวนมากเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เป้าหมายทั้ง 10 ด้าน ที่เป็นจุดแข็ง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร หุ่นยนต์ และการแพทย์ เป็นต้น ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้ให้ทุนเพื่อผลิตนักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขา แต่ไม่ได้มองถึงความต้องการของประเทศเป็นตัวตั้ง ทำให้ต้องกลับมาจัดกลุ่มทุนและกำลังคนใหม่เพื่อให้สอดรับกับเศรษฐกิจไทยยุค 4.0 ที่กำลังเข้ามาในอนาคตอันใกล้ เป้าหมายของงานวิจัยในอนาคตจะต้องเปลี่ยนให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน และผลักดันให้เอกชนเกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนา ทำให้ผลิตผลจากงานวิจัยกลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เข้าสู่ตลาดได้ และต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำวิจัยที่ส่งเสริมจุดแข็งของประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) การพัฒนาข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของข้าว หรือ การพัฒนาจีโนม (Genome)ของข้าว เพื่อให้ทนทานต่อโรคแมลง ทนทานต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนการแปรรูปข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม ทำให้พืชเศรษฐกิจหลักของประเทศสามารถแข่งขันและสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทยได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยไทย หรือแม้แต่จุลินทรีย์ที่พบหลากหลายสายพันธุ์ในประเทศไทย ก็จะนำมาศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นถึงความสำเร็จในการต่อยอดวิทยาศาสตร์จากองค์ความรู้พื้นฐาน เอาไปใช้ต่อในภาคเอกชน ซึ่งเป็นกลไกที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดมากขึ้นในอนาคต ณ ปัจจุบันนโยบายของรัฐได้เอื้อให้นักวิจัยในสังกัดภาครัฐ และมหาวิทยาลัย ออกไปทำงานวิจัยร่วมกับเอกชนได้มากขึ้น โดยรัฐพยายามปลดล็อคข้อจำกัดที่มีอยู่ทั้งตำแหน่งทางวิชาการ และค่าตอบแทนที่จะได้รับ ทำให้มีนักวิจัยที่ออกไปทำงานกับเอกชนบางส่วนแล้ว ในขณะที่ภาคเอกชนเริ่มมีความตื่นตัว และต้องการทำนวัตกรรมมากขึ้น มีการมองหานักวิจัยไทยศักยภาพสูงไปร่วมสร้างและพัฒนานวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจพร้อมทั้งแก้ปัญหาสังคมในด้านต่าง ๆ
ดร.พิเชฐ ย้ำว่า การที่ประเทศไทยจะก้าวไปถึงเศรษฐกิจยุค 4.0 ได้นั้น สังคมจะต้องเกิดความสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ซึ่งสิ่งสำคัญที่ท้าทายคือทำอย่างไรให้กลไกนี้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน นอกจากความร่วมมือของหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศที่หันมาจับมือทำงานร่วมกันภายใต้ระบบเดียว เกิดเป็นนโยบายวิจัยแห่งชาติ โดยมีคณะกรรมการนโยบายระบบวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และหน่วยงานให้ทุนที่ทำหน้าที่ชัดเจน
สิ่งที่ขาดไม่ได้คือนักวิจัย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ประสบผลสำเร็จ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการบริหาร ที่เคยเป็นกำแพงปิดกันการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างที่ผ่านมา "ไทยแลนด์ 4.0 เป็นสังคมที่ก้าวขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เป็นสังคมที่มีนวัตกรรมเยอะ ยุคนี้ยังมีความขัดแย้งในสังคม จึงอย่าลืมว่าเมื่อทำสิ่งใด สังคมทุกฝ่ายต้องไปด้วยกัน และให้นึกถึงความยั่งยืน ดังนั้นจึงต้องช่วยกันทำงานวิจัยให้เกิดนวัตกรรม เกิดการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ผลักดันให้เอกชนลงทุนร่วมมือกันทำวิจัยให้สำเร็จ ในส่วนของผลงานวิจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ให้นำไปเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม 10 ด้าน ซึ่งจะช่วยพัฒนาประเทศได้" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว
ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)กล่าวว่า 30ปีที่ผ่านมา สสวท. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(พสวท.)เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ที่เรียกว่า บัณฑิต พสวท. เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ทำงานวิจัยในเรื่องเร่งด่วนร่วมกับภาคเอกชน สร้างนวัตกรรมให้กับภาคการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดต้นทุน และลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อเป็นกำลังคนในอนาคต ป้อนเข้าสู่มหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม ที่มีแนวโน้มความต้องการกำลังคนด้านนี้สูงขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2559 มีบัณฑิตพสวท. ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ และผลงานด้านบริหารได้รับคัดเลือกเข้า "DPST Hall of Fame" ถึง 16 ท่าน
"ในอนาคตอันใกล้นี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะร่วมมือกับ สสวท. หาแนวทางผลักดันมาตรการส่งเสริมให้บัณฑิต พสวท. สามารถปฏิบัติงานวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ (Talent Mobility) และกำหนดทิศทางการทำวิจัยร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนของนักเรียนทุนรัฐบาลให้แน่ชัดต่อไป" ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว