ไทย-ญี่ปุ่น ร่วมมือทวิภาคีด้านจัดการสาธารณภัย

ข่าวทั่วไป Wednesday July 6, 2005 09:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมลงนามความร่วมมือรูปแบบทวิภาคี ด้านการจัดการสาธารณภัย กับ FDMA แห่งประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการ สาธารณภัยของประเทศ ให้เป็นระบบ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายสุนทร ริ้วเหลือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึง ความร่วมมือระหว่างไทย ญี่ปุ่น ในการจัดการสาธารณภัยว่า ญี่ปุ่น จัดเป็นประเทศที่ประสบภัยธรรมชาติค่อนข้างมาก ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาการจัดการภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นระบบ ครบวงจร ดังนั้น กรมป้องกันฯ จึงได้จัดพิธีร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วม The Promotion Fire Defense and Disaster Management Exchange ระหว่าง กรมป้องกันฯ กับ FDMA (Fire and Disaster Management Agencies)ของประเทศญี่ปุ่น ในรูปแบบทวีภาคี ด้านการจัดการสาธารณภัย โดยประเด็นที่จะหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประกอบด้วย การแสดงความขอบคุณที่รัฐบาลญี่ปุ่น ให้ความช่วยเหลือประเทศไทย ในช่วงที่เกิดธรณีพิบัติภัยและ คลื่นยักษ์สึนามิ ด้วยการส่งคณะเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการค้นหาผู้ประสบภัย จัดฝึกอบรมภาคทฤษฎีและวิชาการ เกี่ยวกับแผ่นดินไหว และการดับเพลิงแก่กรมป้องกันฯ รวมถึงสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์กู้ภัย แก่กรมป้องกันฯ จำนวน 23 รายการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.5 ล้านบาท นอกจากนี้ ในการหารือดังกล่าว กรมป้องกันฯ ยังได้เสนอโครงการความร่วมมือระหว่างไทย ญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการสาธารณภัย ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการที่ปรึกษาอธิบดี , โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการค้นหาและกู้ภัย และโครงการจัดทำคู่มือสาธารณภัย โดยในเบื้องต้น รัฐบาลญี่ปุ่นจะอนุมัติโครงการที่ปรึกษาอธิบดีแก่กรมป้องกันฯ สำหรับโครงการอื่นๆ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ ประเทศไทย จะได้ประโยชน์อย่างมหาศาลจากการร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ กล่าวคือ ทำให้การบริหารจัดการภัยพิบัติของประเทศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งการเสริมสร้างองค์ความรู้ ทักษะ การแลกเปลี่ยน ความรู้ ประสบการณ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณภัยของประเทศ โดยในระยะยาว จะทำให้ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการสาธารณภัย ได้อย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ ทันต่อเหตุการณ์และยั่งยืน และสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของไทย อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต ทรัพย์สิน และสังคม ที่มีคุณภาพ ยั่งยืน และลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากสาธารณภัยที่เกิดขึ้น--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ