กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--สถาบันพัฒนาเพื่อเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เกิดความเข้าใจในระบบควบคุมและเก็บข้อมูลระยะไกลเชิง SCADA
2. เพื่อให้ทราบถึงลักษณะเทคโนโลยีการควบคุมระบบ SCADA ในปัจจุบัน
3. เพื่อให้ทราบถึงการประยุกต์ใช้ระบบ SCADA กับระบบงานควบคุมจริงในประเทศไทย
4. เพื่อให้เกิดความเข้าใจเบื้องต้นในการนำไปประยุกต์และพิจารณาใช้งานระบบควบคุม SCADA
กล่าวนำ
ระบบควบคุมแบบ SCADA หรือ Supervisory Control And Data Acquisition เป็นระบบควบคุมที่เชื่อมโยงเข้ากับอุปกรณ์ควบคุมในกระบวนการผลิต อาทิเช่น PLC, Loop Controller, Intelligent Transmitter, Digital Power Meter เพื่อให้สามารถแสดงผลการทำงานของสายผลิตในลักษณะกราฟฟิก, แสดงรูปคลื่นค่าสัญญาณในกระบวนการผลิตพร้อมทั้งเก็บประวัติ, แจ้งเตือนค่าผิดปกติที่เกิดขึ้นในกระบวนการ, ดำเนินการควบคุมตามค่าที่กำหนดล่วงหน้า เพื่อลดข้อผิดพลาดและวัตถุดิบสูญเสียจากพนักงานควบคุม พร้อมทั้งเก็บและพิมพ์รายงานที่เป็นประโยชน์ต่องานควบคุมและคุณภาพของกระบวนการผลิตต่อผู้บริหารโรงงาน
ในปัจจุบันระบบควบคุมกระบวนการอุตสาหกรรมและการควบคุมคุณภาพการผลิตมักเป็นสิ่งควบคู่กันอย่างขาดกันเสียมิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาตราฐานคุณภาพอย่าง ISO 9000 และ ISO14000 เป็นที่รับรองคุณภาพของโรงงานในแวดวงอุตสาหกรรมระดับสากลด้วยแล้ว ความต้องการควบคุมคุณภาพและกระบวนการผลิตให้สอดคล้องและมีประสิทธิภาพนั้น จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการในระดับการจัดการโรงงานเชิงคุณภาพและมีประสิทธิผลที่สุด โดยการนำเอาระบบ SCADA มาเป็นเครื่องมือช่วยเพื่อควบคุมกระบวนการผลิตและเชื่อมโยงข้อมูลการผลิตเพื่อแสดงข้อมูลรายงานยังส่วนบริหารจัดการโรงงานได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและสามารถวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตของโรงงานให้ทันต่อเหตุการณ์จากภายนอกที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
การนำเสนอข้อมูลสู่ผู้บริหารของโรงงานจาก SCADA ผ่านเทคโนโลยีปัจจุบันมีความคล่องตัวขึ้นมาก และกระทำรายงานได้ซับซ้อนกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก สามารถกระทำการเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายฐานข้อมูลกลางในส่วนสำนักงานเพื่อนำไปประมวลผลร่วมกับข้อมูลตัวเลขธุรกิจของโรงงานได้ทันที อาทิเช่น Oracle, Informix, Sybase, DB/2, MS-SQL, MS-Access, FoxPro เป็นต้น
นอกจากนี้ ระบบ SCADA ในปัจจุบันนี้ยังมีขีดความสามารถให้สิทธิการควบคุมและดำเนินงานระบบผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet) ได้อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้เข้าถึงระบบ SCADA ต่อผู้บริหารและผู้จัดการโรงงานได้จากทั่วทุกมุมโลกเสมือนอยู่ในห้องควบคุมเช่นเดียวกับวิศวกร ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้การจัดการดูแลโรงงานสามารถเกิดข้อมูลสนับสนุนเพื่อการพิจารณาชนิดวินาทีต่อวินาทีกับผู้บริหารและจัดการได้ตลอดเวลา นั่นเอง
เนื้อหาสัมมนาเบื้องต้น
ในการสัมมนาครั้งนี้ มุ่งเน้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาทราบถึงเทคโนโลยีควบคุมเชิง SCADA โดยผ่านระบบคอมพิวเตอร์บนระบบปฏิบัติการ Windows/NT ซึ่งในช่วงต้นของการสัมมนาจะกล่าวถึงโครงการขนาดใหญ่และขนาดย่อมที่ได้มีการใช้งานในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความเข้าใจในระบบ SCADA จากตัวอย่างจริง และในช่วงหลังเป็นการนำเสนอวิธีการพัฒนาและส่วนประกอบต่างๆของระบบ SCADA อาทิเช่น การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ควบคุม, ส่วนกราฟฟิก, การแสดงกราฟและเก็บข้อมูล, ส่วนการแจ้งเตือน (Alarm), การกำหนดรายงานและเงื่อนไขการควบคุม, การเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่, การใช้งาน SQL, การจัดระบบเชิงเครือข่าย และการควบคุมแบบ Redundancy เพื่อเป็นหลักการในการพิจารณาเลือกระบบในเบื้องต้น
หัวข้อและกำหนดเวลา
8:30-8:50 ลงทะเบียน
9:00-9:10 พิธีกรกล่าวต้อนรับ
9:15-10:30 การใช้งาน SCADA กับโครงการขนาดใหญ่ในประเทศไทย
10:30-11:50 การพิจารณาและการพัฒนาระบบ SCADA เบื้องต้น
11:50-12:00 สรุปบรรยาย / ตอบข้อซักถาม
วิทยากรบรรยาย
คุณนันทศักดิ์ เลาหะวิโรจน์
ผู้จัดการทั่วไป บ. อินดัสเตรียลเทคโนโลยีซัพพลาย จก.
กลุ่มผู้เข้าร่วมสัมมนา
ผู้บริหารโรงงาน, ผุ้จัดการโรงงาน, วิศวกร, ผู้เกี่ยวข้องในงานระบบควบคุมเพื่อจัดการ อาทิเช่น วิศกรที่ปรึกษาและรับเหมางานระบบควบคุม, งานบำบัดน้ำเสีย, งานโทรมาตร เป็นต้น และผู้สนใจในงานระบบควบคุมเชิง SCADA
วัน-เวลาและสถานที่สัมมนา 21 กันยายน พ.ศ. 2543 เวลา 9:00 — 12:00 น.
ณ ห้องประชุมสัมมนา ชั้น 8 อาคารอเนกประสงค์
สำนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
1518 ถ.พิบูลสงคราม บางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
จำนวนที่นั่ง 50 ท่าน
สำรองการสัมมนาได้ที่ ฝ่ายฝึกอบรม โทรศัพท์ 913-2581
หรือ 913-2500 ต่อ 2616, 2617, 2618
โทรสาร 913-2581--จบ--
-อน-