กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักรับผิดชอบการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม จัดประชุมสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ปีงบประมาณ 2559 ในพื้นที่ 19 จังหวัดเป้าหมาย วันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Grand Hall 201-202 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรม ในช่วงระยะเวลามากกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาครัฐและเอกชนไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีความพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การแก้ไขโดยการดำเนินงานของโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรมโดยลำพังยังไม่ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพึงพอใจ แนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11-12 เป็นแนวทางที่นำมาปรับใช้กับการพัฒนาเมืองที่มีศักยภาพด้านการเจริญเติบโตหรือมีความหนาแน่นของโรงงานอุตสาหกรรมสูง เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยหลักการของแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระยะแรก จะเป็นการแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างบูรณาการ จากนั้นจึงสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมที่เกื้อกูลกัน โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
"กระทรวงอุตสาหกรรม จะส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ให้เป็นไปในแนวทางอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และอุตสาหกรรมสีเขียว พร้อมทั้งนำแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาใช้ โดยขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างบูรณาการใน 5 มิติ ได้แก่ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการบริหารจัดการ ไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้ในจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่นและที่มีศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมสูงจะศึกษาและจัดทำแผนแม่บทพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงาน พร้อมทั้งนำแผนแม่บทไปจัดทำแผนปฏิบัติการแบบบูรณาการระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตามแผนแม่บทฯ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ไปสู่เป้าหมายตามตัวชี้วัดระดับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 5 ระดับที่จัดทำขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศทั้งในส่วนกลางและจังหวัดเป้าหมาย เพื่อประสานงาน จัดฝึกอบรม ตลอดจน รวบรวมและบริการข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การประชุมสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศปีงบประมาณ 2559 ที่จัดขึ้นนี้ ได้รับทราบผลการดำเนินงานการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในส่วนที่เป็นผลสำเร็จ ปัญหา และอุปสรรค ที่ต้องช่วยกันแก้ไข เพื่อให้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น"
นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ให้รายละเอียดการดำเนินงานเพิ่มเติมว่า การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นการดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ประเทศที่มุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 โดยในปีงบประมาณ 2557 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย พื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และระยอง และพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี และในปี 2558 ได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพิ่มอีก 10 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ขอนแก่น นครราชสีมา สระบุรี ราชบุรี สุราษฎร์ธานีและสงขลา และได้จัดทำตัวชี้วัด (KPI) การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อวัดระดับความสำเร็จของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อให้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในจังหวัดต่างๆ ดังกล่าว มีความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนแม่บทที่ได้ศึกษาจัดทำไว้ และเป็นไปตามข้อสั่งการของคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรรมแห่งชาติที่มอบหมายให้จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศตามแผนแม่บท และในปีงบประมาณ 2559 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้นำกิจกรรมในมิติกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่ 15 จังหวัด มาจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการและกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการต่อไป ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีการเลือกพื้นที่นำร่องในการพัฒนาเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อให้เป็นตัวอย่างในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ในจังหวัด นอกจากนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้ดำเนินงานโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยตามแผนแม่บท เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 8 จังหวัด ได้แก่ ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี นครปฐม และปทุมธานี ศึกษาปรับปรุงตัวชี้วัดความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้เหมาะสมแก่การตรวจประเมินยิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของศูนย์พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Town Center) พร้อมทำการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย จังหวัดมุกดาหาร สระแก้ว ตาก และตราด ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวข้างต้นได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากแต่ละจังหวัด ในการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับจังหวัด และคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับพื้นที่นำร่อง เพื่อให้กรอบแนวทางและร่วมพิจารณาจัดทำโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว
"กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้นำแผนปฏิบัติการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ทั้ง 15 จังหวัด เสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และมีผู้แทนส่วนราชการระดับกระทรวง และกรมที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการต่อไป ซึ่งการประชุมสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงผลการดำเนินงานการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในปีงบประมาณ 2559 รวมถึงเป็นการผนึกกำลังให้เกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมาจากทั้งหน่วยงานราชการส่วนจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และเครือข่ายภาคประชาสังคม โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน โดยกรมโรงงานฯ คาดหวังว่า การประชุมในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งเวทีที่จะได้แนวทางการดำเนินงานการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้เป็นรูปธรรมร่วมกันต่อไป"