กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--PwC ประเทศไทย
PwC ทั่วโลกเผยปี 2559 รายได้เฉียด 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.25 ล้านล้านบาท) เหตุได้รับอานิสงส์ตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียส่งผลให้ผลการดำเนินงานเติบโตอย่างโดดเด่นทั้งสามธุรกิจ ทั้งงานตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาธุรกิจ และภาษีที่เพิ่มขึ้น เผยแผนปี 60 เล็งทุนด้านเทคโนโลยีหวังนำมาช่วยเสริมคุณภาพในการให้บริการที่รวดเร็ว แม่นยำเพื่อสนองความต้องการลูกค้าในยุคดิจิทัล ด้าน PwC ประเทศไทย เตรียมพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในธุรกิจตรวจสอบบัญชีเช่นกัน
นาย โรเบิร์ต อี มอริตซ์ ประธาน บริษัท PricewaterhouseCoopers International Ltd เปิดเผยว่า ผลการดำเนินธุรกิจของเครือข่าย PwC ทั่วโลกรอบปีงบประมาณ 2559 (งบการเงินสิ้นสุด ณ 30 มิถุนายน 2559) มีรายได้รวม 35,896 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากรอบปี 2558 ที่มีรายได้ 35,356 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 7.3% (ตามอัตราแลกเปลี่ยนคงที่)โดยรายได้ส่วนใหญ่ยังมาจากธุรกิจตรวจสอบบัญชี
"รายได้ของบริษัทที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งในทุกสายธุรกิจและทุกตลาดสำคัญในปีนี้ถือเป็นบทพิสูจน์ถึงคุณภาพในการให้บริการ ความไว้วางใจของลูกค้าที่ให้เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายสำคัญในการดำเนินธุรกิจของ PwC" นาย มอริตซ์ กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานแยกตามประเภทธุรกิจในปี 2559 นั้น ธุรกิจตรวจสอบบัญชี (Assurance) ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทสร้างรายได้ให้แก่บริษัทถึง 15,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเติบโต 6.4% จากปีที่ผ่านมา ถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและแรงกดดันทางด้านราคาของธุรกิจตรวจสอบบัญชีทั่วโลก โดยบริการตรวจสอบบัญชีให้แก่ลูกค้าในกลุ่มตลาดทุนยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน PwC ได้พัฒนาคุณภาพบริการโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในบริการด้านบัญชี เช่น ความเสี่ยงด้านไอที การประกันข้อมูล เป็นต้น
ส่วนธุรกิจที่ปรึกษา (Advisory) ในปีนี้สร้างรายได้ให้บริษัท 11,531 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตเพิ่มขึ้น 8.3% จากปีก่อน โดยความต้องการบริการด้านที่ปรึกษาในการวางแผนเชิงกลยุทธ์ การตรวจสอบทุจริต และการควบรวมยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริการด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ดิจิทัล และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เป็นผลมาจากการลงทุนด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นของ PwC ในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่ธุรกิจด้านภาษี (Tax) ปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 7.4% มาแตะที่ระดับ 9,085 ล้านดอลลาร์ เป็นผลพวงมาจากตลาดการควบรวมกิจการที่เติบโต รวมไปถึงความต้องการด้านที่ปรึกษาในการปฏิบัติตามหลักภาษี และการตั้งราคาโอน (Transfer pricing) ของกิจการข้ามชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า เอเชียถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ผลักดันให้รายได้ของ PwC เติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ โดยเอเชียมีอัตราการเติบโตของรายได้สูงที่สุดโดยเพิ่มขึ้นถึง 10.3% มาอยู่ 4,391 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากผลการดำเนินงานของเครือข่าย PwC ประเทศจีนและอินเดีย
"PwC ประเทศไทย ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รายได้รวมของเครือข่ายในปีนี้เติบโตอย่างโดดเด่น ท่ามกลางภาวะกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น นั่นเพราะความมุ่งมั่นในการคงคุณภาพบริการและยึดมั่นในความเป็นมืออาชีพ ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการดำเนินงานของเรา ทำให้ลูกค้าไว้วางใจเลือกใช้บริการอย่างต่อเนื่องและเราเชื่อมั่นว่ารายได้ในปีหน้าจะเติบโตจากปีนี้เช่นกัน"
สำหรับเครือข่าย PwC ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกรายได้เติบโต 10% รองลงมาคือ ทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้รายได้เพิ่มขึ้น 9.4% ส่วนทวีปอเมริกาเหนือและแคริบเบียน ตามมาเป็นอันดับสี่เติบโตเกือบ 8% โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จาก PwC สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุด ขณะที่รายได้จากทวีปตะวันออกกลางและแอฟริกาเติบโต 7% ทวีปยุโรปตะวันตกเพิ่มขึ้น 5.9% และทวีปออสตราเลเซียและหมู่เกาะแปซิฟิก โต 5.3%
ลงทุนเพิ่ม-ใส่ใจเทคโนโลยี
นาย มอริตซ์ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา PwC ได้ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบไอที ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ การประกันและวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ตลาดทุน และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในภาวะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วโดยเน้นคุณภาพเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ในปี 2559 เครือข่าย PwC ทั่วโลกใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ในการเพิ่มคุณภาพและส่งมอบบริการที่ดีให้กับลูกค้า
ทั้งนี้ PwC มุ่งเน้นในการวางกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในระยะยาว โดยมองไปข้างหน้าไม่ว่าจะเป็นการให้บริการด้านการตรวจสอบบัญชีและภาษีที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป งานธุรกิจที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ที่อิทธิพลของดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือนมาประยุกต์ใช้ ซึ่งทั้งหมดต้องสอดรับกับเป้าหมาย (Purpose) ในการสร้างความเชื่อมั่นและแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าและสังคมส่วนรวม
ด้าน นาย ศิระ กล่าวเสริมว่า PwC ประเทศไทยเองอยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เพื่อนำเข้ามาช่วยในด้านงานตรวจสอบบัญชี เพื่อรองรับกับความความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก สวนทางกับจำนวนผู้สอบบัญชีในตลาดที่มีจำนวนไม่เพียงพอ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้าในยุคดิจิทัลอีกด้วย
'บุคลากร' ฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ
ในปีที่ผ่านมา เครือข่าย PwC ได้จ้างบุคลากรทั่วโลกจำนวนทั้งสิ้นถึง 58,081 คนทั่วโลก โดยในจำนวนนี้เป็นบัณฑิตจบใหม่ถึง 26,780 คน ทำให้ปัจจุบัน PwC มีจำนวนพนักงานในเครือข่ายทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 223,000 คน เพิ่มขึ้นมากกว่า 7% จากปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานในภูมิภาคเอเชีย ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ขณะที่มากกว่าครึ่งของบัณฑิตจบใหม่ที่จ้างนั้นเป็นผู้หญิง นอกจากนี้ มีหุ้นส่วนหน้าใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งในปีนี้จำนวน 665 ราย โดยจำนวนของผู้หญิงที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหุ้นส่วนยังเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่สาม โดยปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนถึง 27% ของหุ้นส่วนหน้าใหม่ทั้งหมด
"จำนวนหุ้นส่วนที่เป็นผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ รวมทั้งอัตราส่วนของผู้นำหญิงในทีมผู้นำเครือข่าย PwC ที่สูงเป็นประวัติการณ์สะท้อนให้เห็นว่า PwC เป็นองค์กรที่ส่งเสริมความหลากหลายของบุคลากร ซึ่งเรามีพัฒนาการที่ดีในด้านนี้มาโดยตลอดและจะยังผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป เพราะเราเชื่อว่าความแตกต่างทั้งทางเพศ เชื้อชาติ ภาษา และประสบการณ์ที่หลากหลายของพนักงานแต่ละคนจะช่วยทำให้เราส่งมอบงานคุณภาพให้แก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น" นาย มอริตซ์ กล่าว
นอกจากนี้ PwC ยังให้ความสำคัญกับการตอบแทนสังคมและประเทศชาติ ไม่เพียงแต่ลูกค้า หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยในปี 2559 เครือข่าย PwC ทั่วโลกร่วมกันบริจาคเงิน 63 ล้านดอลลาร์ให้แก่กิจกรรมเพื่อสังคม และอุทิศเวลา 820,000 ชั่วโมง เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบริการที่ตนมีความชำนาญเพื่อเป็นการกุศลแก่องค์กรต่างๆ