พบโรคมือ เท้าและปากเปื่อยใน กทม.บ้างแต่ยังไม่รุนแรง

ข่าวทั่วไป Monday October 9, 2000 10:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--กทม.
น.พ.ปิยเมธิ ยอดเณร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าจากกรณีที่มีโรคมือ เท้า และปากเปื่อย(HFMD)อย่างรุนแรงจนถึงเสียชีวิตในประเทศสิงคโปร์นั้น ตามรายงานของกองระบาดวิทยา สำนักอนามัย และกองควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคมือ เท้า และปากเปื่อยประปรายมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีการระบาดใหญ่ และเคยมีผู้ป่วยในสถานเลี้ยงเด็กแห่งหนึ่งในกทม.ประมาณ 6 คนในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยได้ติดเชื้อ (Enterovirus)เอ็นเตอโรไวรัสสายพันธ์ที่ไม่รุนแรง ในการนี้เจ้าหน้าที่ของสำนักอนามัยและกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุขได้เข้าดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรค ด้วยการตรวจหาเชื้อจากอุจจาระของผู้ป่วย ผลพบเชื้อ Enterovirus ไม่สามารถแยกสายพันธ์ได้ และเด็กทุกคนมีอาการไม่รุนแรง ทำการรักษาให้หายเป็นปกติภายในเวลาไม่นาน ทั้งนี้โรคดังกล่าวพบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี หากอาการรุนแรงก็สามารถป้องกันได้โดยทำการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นชัดเจนโดยเฉพาะเด็กเล็ก เช่นมีแผลที่มือ เท้า และปาก รวมทั้งมีไข้ อย่างไรก็ดีอาการของโรคจะมีผื่นแดง ตุ่มพอง (ไม่คัน) อาจมีไข้เบื่ออาหาร มีการอักเสบทางลำไส้คือท้องเสียในบางราย และอาจมีอาการที่รุนแรงคือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต
ในส่วนของกทม.ได้สั่งการให้กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัยเฝ้าดูแล โรคดังกล่าวและศูนย์บริการสาธารณสุขได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกดูแลและให้ความรู้ด้านการรักษาอนามัยส่วนบุคคลแก่ประชาชนตามพื้นที่ที่รับ ผิดชอบด้วย
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวนั้น เชื้อกลุ่มนี้จะเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานอาหารเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังเข้าสู่ร่างกายได้ทางการหายใจ เชื้อนี้จะเพิ่มจำนวนที่บริเวณคอ และทางเดินอาหาร ส่วนการติดต่อของเชื้อนี้ พบได้ในน้ำมูก น้ำลายและอุจจาระของผู้ป่วย ดังนั้นการติดต่อจึงเกิดจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย รับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อนี้เข้าไป ทางลมหายใจอาจพบได้แต่น้อยมาก
สำหรับข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในการป้องกันโรคเท้าและปากเปื่อยก็คือ การรักษาสุขวิทยาส่วนบุคคล โดยหลีกเลี่ยงมิให้เด็กคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย รักษาอนามัยส่วนบุคคลเช่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะผู้เลี้ยงดูเด็กเล็ก รับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด ใช้ภาชนะที่สะอาด ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ขวดนม ผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระต้องรีบซักให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ไม่ทิ้งลงท่อระบายน้ำ เมื่อเช็ดน้ำมูก น้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ