กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ คาดว่า การแข่งขันในธุรกิจการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศไทยจะมีความรุนแรงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2559 และปี 2560 บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศ ได้เปิดให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในปี 2558 และมีการเสนอแพ็คเกจที่มีการแข่งขันด้านราคา โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงรายใหญ่ของประเทศในอนาคต
บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมของรัฐและเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงรายใหญ่อันดับที่สาม น่าจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยบริษัทได้สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดซึ่งวัดจากจำนวนผู้ใช้บริการให้แก่คู่แข่ง ซึ่งได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ True บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ Jasmin และ AIS True ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่สาม เป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีลูกค้าจำนวน 2.6 ล้านราย หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด 38% ณ สิ้นปี 2558 Jasmin เป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงรายใหญ่อันดับที่สองมีส่วนแบ่งทางการตลาด 32% ตามมาด้วย TOT ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาด 21% ส่วนแบ่งทางการตลาดของ TOT ได้ปรับตัวลดลงจาก 31% ณ สิ้นปี 2556
ฟิทช์คาดว่าธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของไทยจะมีการเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากอัตราส่วนครัวเรือนที่มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 30% ในปี 2558 การเติบโตของสื่อบันเทิงในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และการบริโภคสื่อผ่านระบบออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น น่าจะส่งผลให้มีความต้องการในการใช้งานข้อมูลและความเร็วในการใช้บริการอินเตอร์เน็ตที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันความต้องการการใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านระบบไฟเบอร์ออฟติก (FTTx) มากขึ้น
การเข้าสู่ตลาดการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของ AIS ซึ่งมีการเสนอแพ็คเกจที่มีราคาต่ำกว่าคู่แข่งในขณะที่มีความเร็วของบริการในระดับเดียวกัน น่าจะช่วยเร่งการเติบโตของจำนวนผู้ใช้บริการ ในขณะเดียวกันก็อาจส่งผลให้เกิดการแข็งขันที่รุนแรงระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้ (ARPU) และการเติบโตของรายได้
กลยุทธ์ของ AIS มุ่งเน้นเสนอการให้บริการผ่านระบบ FTTx ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ซึ่งมีคุณภาพและรองรับการให้บริการที่ระดับความเร็วที่สูงกว่า เทคโนโลยี ADSL ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นเทคโนโลยีหลักที่ใช้ในการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศไทย ในขณะที่ลูกค้าอินเตอร์เน็ตของ AIS ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 200,000 ราย ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 หรือคิดเป็นสัดส่วนทางการตลาดที่ 3% บริษัทมีแผนที่จะขยายจำนวนลูกค้าเป็น 300,000 ราย ภายในปี 2559 และมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับที่ 2 ภายใน 5 ปี
ฟิทช์มองว่าความต้องการให้บริการอินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงขึ้นและการปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยี FTTx น่าจะเป็นส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่มีเครือข่ายที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่สามารถเสนอบริการโทรคมนาคมที่หลากหลายเช่น โทรศัพพื้นฐาน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งได้แก่ AIS และ True น่าจะอยู่ในสถานะที่ดีกว่าในการเสนอการให้บริการที่แตกต่าง โดยการรวมการให้บริการเช่น โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกและบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ไว้ในแพ็คเกจเดียว ซึ่งน่าจะช่วยรักษาฐานลูกค้าในขณะที่มีการแข่งขันรุนแรง
ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการตลาดของ TOT จะได้รับผลกระทบจากการแข็งขันที่รุนแรงดังกล่าว เนื่องจากบริษัทเสนอบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเพียงอย่าเดียว และการขยายเครือข่าย FTTx ของบริษัทยังคงล่าช้ากว่าคู่แข่งรายอื่น ในขณะที่กลยุทธ์ของ Jasmin ที่เน้นตลาดในต่างจังหวัดซึ่งมีการแข่งขันที่รุนแรงน้อยกว่า น่าจะช่วยลดผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าว อย่างน้อยก็ในระยะสั้น