กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่ 2 สาธารณรัฐสิงคโปร์ ในโอกาสเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้อาเซียน ครั้งที่ 38 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ว่า ผลการหารือในครั้งนี้ถือเป็นผลสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของประเทศไทย ในการผลักดันการส่งออกสินค้าไปเกษตรไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยทางสิงคโปร์ยินดีที่จะเร่งรัดกระบวนการพิจารณารับรองโรงงานทั้ง 4 แห่ง หลังจากที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจโรงงานผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ 3 แห่ง และโรงเชือดสัตว์ปีกเพื่อการส่งออก 1 แห่ง เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปยังสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้น
"ปัจจุบันไทยสามารถส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปยังประเทศสิงคโปร์ได้ราว 16,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,340 ล้านบาท สินค้าปศุสัตว์ที่สามารถส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์ได้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แปรรูปปรุงสุก 95%เนื้อไก่สด ดิบแช่เย็นแช่แข็ง 3% และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปปรุงสุก 2% (เนื้อสุกรแปรรูปปรุงสุกและผลิตภัณฑ์ไข่แปรรูป) เป็นต้น โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกทั้งหมด มาจาก โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ จำนวน 42 โรงงาน โรงเชือดสัตว์ปีกและสุกรเพื่อการส่งเนื้อดิบไปยังโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ จำนวน26 โรงงาน และโรงเชือดสัตว์ปีกเพื่อการส่งออกเนื้อไก่ดิบ จำนวน 2 โรงงาน ซึ่งทั้งหมดได้รับการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานที่ตรวจสอบรับรองสินค้าพืชและปศุสัตว์ที่นำเข้า หรือ (AVA) ของสิงคโปร์เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น หากทั้ง 4 โรงงานข้างต้นได้รับการรับรองรวมถึงนำเข้าไข่ไก่เมื่อผ่านการรับรองแล้วจะส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 240 ล้านบาทต่อปี " พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
ขณะเดียวกัน ยังได้แจ้งความพร้อมของไทยในการส่งออกไข่ไก่ไปยังสิงคโปร์ ตามที่สิงคโปร์แสดงความสนใจ โดยยืนยันว่าขณะนี้ไทยมีกระบวนการเลี้ยงไก่ไข่ และการผลิตไข่ไก่ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน โดยโรงเรือนแบบปิด ซึ่งปลอดเชื้อซัลโมเนลลา และกรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างดำเนินการส่งตัวอย่างไข่ไก่สดออกไปทดสอบยังห้องปฏิบัติการของ AVA ที่สิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถส่งออกไข่ไก่สดไปยังสิงคโปร์ได้ไม่เกินสิ้นปีนี้
และประเด็นสุดท้ายที่ได้หารือร่วมกัน คือ การยืนยันถึงศักยภาพของไทยในการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อความมั่นคงด้านอาหารของสิงคโปร์ ซึ่งจากข้อมูลแนวโน้มในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า ความมั่นคงด้านอาหารจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรที่มากขึ้น พื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ลดลง รวมทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ จะทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภคในอนาคต ประเทศไทยจึงเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายหลักในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร พัฒนาคุณภาพมาตรฐานของผลผลิตให้มีความปลอดภัยสูง ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความพร้อมที่จะเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อความมั่นคงของภูมิภาค และมีความพร้อมที่จะร่วมมือในด้านความมั่นคงอาหารกับสิงคโปร์
สำหรับข้อมูลการค้าสินค้าเกษตร ระหว่างไทย-สิงคโปร์ มูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทย-สิงคโปร์ ในปี 2559 (ม.ค. –ส.ค) ประมาณ 19,904.5 ล้านบาท ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปสิงคโปร์คิดเป็นมูลค่า 11,847.2 ล้านบาท ขณะที่นำเข้าจากสิงคโปร์ 8,057.3 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 3,789.9 ล้านบาท สินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปอื่นๆ น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ขณะที่สินค้าเกษตรนำเข้าสำคัญ อันดับแรก ได้แก่ อาหารปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารก ครีมเทียม อาหารสัตว์และสารเติมแต่งอาหารสัตว์