กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช.
วันนี้ (7 ตุลาคม ๒๕๕๙) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ชี้แจงว่าตามที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 โดยมาตรา ๑๐๓/๘ กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา ๑๐๓/๗ โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ
จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ปช๐๐๒๘/๐๐๕๓
ลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ กราบเรียนนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ผู้ถูกกล่าวหา เรื่อง การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ผู้ถูกกล่าวหามีบัญชาให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบตามมาตรา ๑๐๓/๘ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามกรทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยจัดเข้าวาระการประชุมในวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๔ และคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันดังกล่าว ได้พิจารณาความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มาประกอบ แล้วมีมติให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารเร่งรัดจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ให้สอดคล้องกับกฎ ระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเคร่งครัด และมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องนี้ และความเห็นของสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาดำเนินการตามโครงการนำร่องตามแนวร่วมปฏิบัติต่อต้านทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วนต่อไป ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการดำเนินการตามรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว จะต้องไม่เป็นปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบด้วย สำนักงาน ป.ป.ช. จึงมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ปช๐๐๒๘/๐๐๑๕ ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
กราบเรียนนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เพื่อขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยยืนยันว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับมาตรา ๑๐๓/๗ วรรคหนึ่ง หลังจากนั้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๕๐๕/๖๘๐๖ ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๕ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอความเห็นกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๔ ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวและมีความเห็นปรากฏตามเรื่องเสร็จที่ ๖๖๓/๒๕๕๕ สรุปได้ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติตามมาตรา ๑๐๓/๗ วรรคหนึ่งได้ สิ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นเพียงมาตรการที่เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๙ (๑๑) เท่านั้น
ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงบประมาณ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปหารือร่วมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและหาวิธีการแนวทางในการปฏิบัติเพื่อตอบสนองมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติ มิชอบให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลและคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากมีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป และหลังจากได้เข้าหารือร่วมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือปฏิบัติตามแนวทางการเปิดเผยราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการตามที่กระทรวงการคลังกำหนดและแนวทางการเปิดเผยราคากลางเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างประเภทอื่นที่มิใช่งานก่อสร้างตามมติที่ประชุมหารือระหว่างกระทรวงการคลังและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดมีความพร้อมให้ดำเนินการได้ทันที ส่วนหน่วยงานใดที่ยังไม่มีความพร้อมให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๑๘๐ วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา ๑๐๓/๘ วรรคหนึ่ง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม อย่างร้ายแรง กรณีไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 ตามคำร้องขอให้ถอดถอน คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ให้ส่งรายงานไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาต่อไป ทั้งนี้ ตามมาตรา ๕4 แห่งพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน