กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช.
วันนี้ (7 ตุลาคม ๒๕๕๙) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ชี้แจงว่าตามที่มีการกล่าวหาพลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการ ว่าพลอากาศเอกสุกำพล แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการกรณีบรรจุเข้ารับราชการ การขึ้นทะเบียนกองประจำการ และแต่งตั้งยศทหารของ ร.ต. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีคำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกจากราชการโดยมิชอบ รวมทั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการ ได้สอบสวนกรณีการบรรจุเข้ารับราชการ การขึ้นทะเบียนกองประจำการ และแต่งตั้งยศทหารของ ร.ต. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมิชอบ
จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าช่วงก่อนที่พลอากาศเอกสุกำพล จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีผู้ร้องเรียนเพื่อขอให้ถอดยศของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเรียกคืนเงินเดือนและเบี้ยหวัด ต่อมาเมื่อพลอากาศเอกสุกำพล เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้น ซึ่งผลการสอบสวนสรุปได้ว่าเอกสารต้นขั้วใบสำคัญ (แบบ สด.๙) ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๒๙ แบบ สด.๑ และ แบบ สด.๒๗ ฉบับจริง ทั้ง ๓ ฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกันว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าบัญชีทหารกองเกิน เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๒๙ แต่ในการขึ้นทะเบียนทหาร กองประจำการ ได้ใช้เอกสารใบสำคัญ (แบบ สด.๙) (แทนฉบับที่ชำรุดสูญหาย) ลงวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๓๑ ไม่ใช่ฉบับลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๒๙ ในการขึ้นทะเบียน จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ทำให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ เพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการดังกล่าว ได้มีการหารือข้อกฎหมายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว การเสนอแต่งตั้งได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนการปฏิบัติราชการและผ่านสายการบังคับบัญชาตามปกติ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕ มาตรา ๙ แห่ง พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ๒๕๕๑ การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
การดำเนินการของคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ เป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามคำสั่งแต่งตั้ง โดยมีการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสาร มีการนำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา มีการพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีการให้สิทธินายอภิสิทธิ์ ได้เข้าชี้แจงข้อมูลต่อคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ หากไม่สามารถมาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ ได้ ก็สามารถยื่นเป็นเอกสารหลักฐานได้ และไม่มีการคัดค้านบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ แต่อย่างใด ซึ่งไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าได้ดำเนินการรวมรวมพยานหลักฐานมาโดยไม่ชอบแต่อย่างใด โดยขณะนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเป็นนายทหารนอกราชการ สังกัดจังหวัดทหารบกกรุงเทพ ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ ๘๗๕/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ จึงเป็นนายทหารประเภทที่ ๕ ตามข้อบังคับทหารฯ และสามารถถูกดำเนินการทางวินัยและถูกปลดออกจากราชการได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.๒๔๗๖ มาตรา ๕ และตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการบรรจุ ปลด ย้าย เลื่อน และลดตำแหน่งข้าราชการกลาโหม พ.ศ.๒๕๐๒ ข้อ ๔ (๒) ซึ่งผลการสอบสวนของคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ ปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ ได้กระทำผิดวินัยทหารร้ายแรง ขณะอยู่ในราชการ จึงเสนอให้สมควรปลดออกจากราชการ และในการเสนอคำสั่งปลดออกจากราชการ ก็เป็นไปตามขั้นตอนโดยผ่านผู้บังคับบัญชาตามสายงานปกติ ประกอบกับศาลแพ่งได้มีคำพิพากษา ในประเด็นดังกล่าวแล้วว่าคำสั่งที่ให้ปลดออกจากราชการเป็นคำสั่งโดยชอบแล้ว จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าพลอากาศเอกสุกำพล ได้เข้ามาสั่งการ แทรกแซง หรือเร่งรัดดำเนินการในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ แต่อย่างใด
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ การสอบสวนของคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ และการมีคำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกจากราชการ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน