กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช.
วันนี้ (6 ตุลาคม 2559) นายยงยุทธ มะลิทอง รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงว่า ตามที่มีการกล่าวหาเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครอง
สำนักงาน ป.ป.ช. ขอชี้แจง ดังนี้
เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 58 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับคำพิพากษาแรกกรณีเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. 2 คน ฟ้องคดี โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ผู้ฟ้องชนะคดี โดยคำพิพากษามีผลกระทบกับอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ในสาระสำคัญ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการสำนักงานป.ป.ช. ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 2/2546 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2546 เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุม ครั้งที่ 2/2546 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2546 ได้มีมติกำหนดขึ้นนั้น เป็นหลักเกณฑ์ที่นำไปใช้บังคับกับข้าราชการในสังกัด ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ทุกคน โดยมีการแจ้งเวียนหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ทราบนั้น มีลักษณะเป็นกฎตามนัย มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีการพิจารณาคดี ปกครอง พ.ศ. 2542 โดยต้องออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 107 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจที่จะออกกฎ ระเบียบหรือประกาศที่เกี่ยวกับการบริหารงาน บุคคลของข้าราชการและลูกจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ ซึ่งต้องดำเนินการตามมาตรา 107 วรรคสอง กล่าวคือ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องลงนามและมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้บังคับได้ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยประธานกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ลงนามและไม่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดอันเป็นสาระสำคัญ จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับได้ และกรณีนี้ไม่อาจนำมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาใช้บังคับได้ เนื่องจากมีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว แต่เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดตำแหน่งและการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. พ.ศ. 2550 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 จึงมีผลทำให้หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ระดับ 7 ระดับ 8 และระดับ 9 ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2546 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2546 ถูกยกเลิกไป ศาลปกครองจึงไม่จำต้องมีคำบังคับให้เพิกถอนแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 2 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 ลงวันที่31 ตุลาคม 2548 เลื่อนข้าราชการ จำนวน 35 ราย ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงาน ป.ป.ช. 9 โดยไม่มีชื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการสำนักงานป.ป.ช. ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ระดับ 7 ระดับ 8 และระดับ 9 ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 2/2546 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2546 ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นำไปใช้ในการพิจารณาเพื่อเลื่อนข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ในส่วนของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นหลักเกณฑ์ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจนำมาใช้บังคับได้ ดังนั้น คำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2548 เลื่อนข้าราชการ จำนวน 35 ราย ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงาน ป.ป.ช. 9 โดยไม่มีชื่อ ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช.ที่ 141/2548 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2548 เฉพาะในส่วนที่ไม่มีชื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง โดยให้มีผลนับแต่วันที่ออกคำสั่ง
การดำเนินการของสำนักงาน ป.ป.ช.
1. วันที่ 4 พ.ย. 58 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับคำพิพากษาคดีที่ 2 กรณีเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. อีกรายหนึ่งเป็น ผู้ฟ้อง ชนะคดีซึ่งเป็นประเด็นและมูลคดีเดียวกันกับคดีแรก สำนักงาน ป.ป.ช. เห็นว่า ควรรอผลการตอบข้อหารือจากศาลปกครองก่อนนำเสนอต่อไป เพื่อจะได้เป็นแนวทางเดียวกับกรณีแรก
2. วันที่ 13 พ.ย. 58 สำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือหารือไปยังศาลปกครองรวม 3 ประเด็น ดังนี้
2.1 เมื่อสำนักงาน ป.ป.ช.ได้เพิกถอนคำสั่ง ที่ 141/2548 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2548 เฉพาะในส่วนที่ไม่มีชื่อผู้ฟ้องคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด สำนักงาน ป.ป.ช. จะดำเนินการออกคำสั่งเลื่อนผู้ฟ้องคดี โดยไม่ประเมินเพื่อเลื่อนระดับได้หรือไม่ หรือ
2.2 ให้ผู้ฟ้องคดีเข้ารับการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกที่ได้มีการประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา จึงจะถูกต้อง
2.3 แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกข้าราชการ ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น โดยให้มีผลย้อนหลัง
3. ต่อมาศาลปกครองได้ตอบข้อหารือกลับมา สรุปว่า
3.1 คดีนี้ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2548 เฉพาะในส่วนที่ไม่มีชื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองโดยให้มีผลนับแต่วันที่ออกคำสั่ง ซึ่งโดยผลของคำพิพากษาทำให้คำสั่งดังกล่าวเฉพาะในส่วนที่ไม่มีชื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองถูกเพิกถอน ไปแล้ว
3.2 เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการ สำนักงาน ป.ป.ช. ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ที่พิพาทเป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่อาจบังคับได้ ดังนั้น กระบวนการประเมินเพื่อเลื่อนระดับผู้ฟ้องคดีทั้งสองขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นของผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย เนื่องจากนำหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาใช้ในการประเมินผู้ฟ้องคดี และเมื่อศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2548 เฉพาะในส่วนที่ไม่มีชื่อผู้ฟ้องคดี จึงถือเสมือนว่ายังไม่มีการประเมินผู้ฟ้องคดี เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ผู้ถูกฟ้องคดีจึงชอบที่จะดำเนินการประเมิน ผู้ฟ้องคดีทั้งสองใหม่ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
4. วันที่ 4 พ.ค. 59 องค์คณะศาลได้อนุญาตให้สำนักงาน ป.ป.ช. คัดแบบประเมิน
5. วันที่ 22 มิ.ย. 59 คณะอนุกรรมการข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ โดยให้ดำเนินการประเมินผู้ชนะคดีทุกรายใหม่ โดยให้นำหลักเกณฑ์ปี 50 มาใช้ในการประเมิน ต่อมาวันที่ 7 ก.ค. 59 สำนักงาน ป.ป.ช. แจ้งผลการดำเนินการให้สำนักบังคับคดีปกครองทราบ
6. วันที่ 28 ก.ย. 59 สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอรายชื่อคณะกรรมการประเมินต่อคณะอนุกรรมการข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผู้ฟ้องคดีทุกรายต่อไปแล้ว
จะเห็นได้ว่าเมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับทราบคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้วก็ได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น หารือแนวทางปฏิบัติไปยังสำนักบังคับคดีปกครอง เมื่อได้รับแจ้งแนวทางปฏิบัติแล้ว ก็ได้ตั้งคณะกรรมการประเมินผู้ฟ้องคดีทุกราย
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดระบุชัดเจนว่าเพิกถอนคำสั่งเฉพาะในส่วนที่ไม่มีชื่อผู้ฟ้องคดี ไม่กระทบกับบุคคลในคำสั่งทั้ง 35 ราย
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน