กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นทุกชนิด น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 3.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 5.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันดิบเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 2.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 4.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Reuters รายงานรัฐมนตรีพลังงานของกลุ่ม OPEC จะหารือนอกรอบกับรัฐมนตรีพลังงานของรัสเซียเกี่ยวกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ในงานสัมมนา World Energy Congress ที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ระหว่างวันที่9-13 ต.ค. 59
· เฮอร์ริเคน Matthew (Category 4) ความเร็วประมาณ 210 กม./ชม. มุ่งหน้าขึ้นชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ครอบคลุมมลรัฐ Florida Georgia, North Carolina และ South Carolina ซึ่งคาดว่าอาจสร้างความเสียหายรุนแรงแก่คลังเก็บสำรองน้ำมันสำเร็จรูปปริมาณรวมกว่า 10 ล้านบาร์เรล
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 499.7 ล้านบาร์เรล เป็นการลดลงต่อเนื่อง 5 สัปดาห์ และต่ำกว่าระดับ 500 ล้านบาร์เรล เป็นครั้งแรกตั้งแต่ วันที่ 22 ม.ค. 59
· ความตึงเครียดในตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น หลังอิรักเตือนว่าตุรกีจะเป็นผู้จุดชนวนสงครามในภูมิภาค เพราะคงกำลังทหารราว 2,000 นาย เพื่อกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายบริเวณพรมแดนทางตอนเหนือของอิรัก ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและ รัสเซีย เพิ่มขึ้น เมื่อสหรัฐฯ ยกเลิกการเจรจาเกี่ยวกับสงครามในซีเรียกับรัสเซีย ซึ่งรัสเซียตอบโต้โดยการระงับข้อตกลงความร่วมมือกำจัดพลูโตเนียมกับสหรัฐฯ อย่างไม่มีกำหนด และซ้อมรับมือสงครามนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ ในวันที่ 4-7 ต.ค. 59
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Reuters รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบและคอนเดนเสทของอิหร่านเดือน ก.ย. 59 เพิ่มขึ้น 300,000บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับเทียบเท่าก่อนที่อิหร่านจะถูกคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตกในปี 2553 ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน ส.ค. 59 เพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์คาดมาอยู่ที่ระดับ 3.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นกว่า 25% จากปลายปี 58
· กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 59 เพิ่มขึ้น 400,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 11.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย เนื่องจากบริษัทRosneft และบริษัท Gazprom Neft ผลิตเพิ่มขึ้น
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกา สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ต.ค.59เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3 แท่น มาอยู่ที่ 428 แท่น
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน และ NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ต.ค. 59 กลุ่มผู้จัดการกองทุนเพิ่มสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 73,061 สัญญา มาอยู่ที่ 253,393 สัญญา และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกัน 3 สัปดาห์
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ปรับตัวลดลงเนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรก่อนจะถึงวันหยุดยาวColumbus Day นอกจากนี้ อิหร่านและอิรักปฏิเสธเข้าร่วมการประชุมนอกรอบในการประชุม The 23rd World Energy Congress ที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในวันที่ 13 ต.ค. 59 อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันจากประเทศ OPEC อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอลจีเรีย เวเนซุเอลา และกาตาร์ มีแผนที่จะเข้าร่วมการประชุม รวมถึงนาย Alexander Novak รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซียที่ออกมายืนยันการเข้าร่วมประชุม แต่กล่าวว่าจะไม่มีการตกลงทางด้านปริมาณการผลิตน้ำมันดิบแต่อย่างไร ส่งผลให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ให้ความสนใจการประชุมสามัญประจำปี OPEC ในวันที่ 30 พ.ย. 59 มากขึ้นว่าการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มและการตั้งโควตาสำหรับประเทศในกลุ่มสมาชิกจะสามารถสำเร็จลุล่วงหรือไม่ ให้จับตามองโค้งสุดท้ายการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ระหว่างนาง Hillary Clinton และนาย Donald Trump โดยวันนี้มีการโต้วาทีครั้งที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยWashington รัฐ Missouri โดยทั้งสองฝั่งได้ใช้วาทกรรมเสียดสีฝ่ายตรงข้ามกันอย่างดุเดือด ทั้งนี้การโต้วาทีครั้งสุดท้ายจะจัดขึ้นที่ University of Neveda เมือง Las Vegas ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย. 59 ด้านความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 49-53 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในขณะที่ NYMEX WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 47-51 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ ราคาน้ำมันดิบดูไบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 46.5-50.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก Pertamina ของอินโดนีเซียออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณรวม 500,000 – 2 ล้านบาร์เรล ส่งมอบ พ.ย.- ธ.ค. 59 ทำให้ผู้ค้าน้ำมันประเมิน Pertamina ซื้อน้ำมันเบนซิน 92 ปริมาณไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อเดือน และ Shell ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure)ในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากโรงงานที่ Pulau Bukom ที่เกิดปัญหาขัดข้องทางเทคนิคเมื่อ 29 ก.ย. 59 ทำให้บริษัท Royal Dutch Shell ในสิงคโปร์ ซื้อน้ำมันเบนซินปริมาณ 50,000 บาร์เรล ส่งมอบ ต.ค. 59 เพิ่มเติมหลังจากการซื้อปริมาณ 450,000 บาร์เรล ส่งมอบปลายเดือนก่อน ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ต.ค.59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 290,000 บาร์เรล หรือ 2.86% อยู่ที่ 9.83 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรล มาอยู่ที่227.4 ล้านบาร์เรล และ อุปทานน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นหลัง โรงกลั่น Paradip (กำลังการกลั่น 300,000 บาร์เรลต่อวัน)ของ India Oil Corp. กลับมาเดินเครื่อง Reformer ผลิตน้ำมันเบนซินปริมาณ 65,000 บาร์เรลต่อวัน หลังการซ่อมแซมแล้วเสร็จ และ Platts รายงานอุปทานน้ำมันเบนซินจากเอเชียเหนือ โดยเฉพาะจีนและไต้หวันกลับเข้ามาในตลาดเอเชีย อีกทั้ง IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ต.ค.59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 25,000 บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 12.23 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงานอินเดียอาจส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน ต.ค. 59 ลดลงจาก ก.ย. 59 เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้น หลังสิ้นสุดฤดูมรสุม และ โรงกลั่น Wakayama (กำลังการกลั่น 132,000 บาร์เรลต่อวัน) ในญี่ปุ่นของ บริษัท TonenGeneral Sekiyu KK มีแผนหยุดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (CDU) เป็นเวลา 1 เดือน ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillatesเชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ต.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 49,000 บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 12.63ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 11 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ต.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 510,000 บาร์เรล หรือ 5.09 % อยู่ที่ 9.48 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 160.7 ล้านบาร์เรล ลดลงมากกว่าตัวเลขจากผลสำรวจนักวิเคราะห์ โดย Reuters ที่คาดการณ์ว่าลดลงจากสัปดาห์ก่อน 132,000 บาร์เรล อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานรัฐบาลจีนให้โควตาส่งออกน้ำมันดีเซลแก่โรงกลั่นในประเทศ ในไตรมาส 4/59 ปริมาณรวม 11.5 ล้านบาร์เรล และ Jet Fuel ปริมาณรวม 4.6 ล้านบาร์เรล อีกทั้ง IATA รายงาน Passenger Load Factor (ตัวเลขบ่งชี้จำนวนผู้โดยสารสายการบิน) เดือน ส.ค.59 ลดลงจากเดือนก่อน 0.9% มาอยู่ที่ระดับ 83.8% สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล