กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลสำเร็จโครงการ SMEs Spring Up รุ่นที่ 1 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ SMEs ได้กว่า 100 ล้านบาท พร้อมดันโปรเจ็คต่อเนื่องทันทีอีก 2 ในกรุงเทพมหานคร รวมถึงขยายผลโครงการ SMEs Spring Up สัญจรอีก 2 รุ่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ และอุดรธานี คาดว่าหลังจากจบโครงการฯ จะทำให้ SMEs สามารถเพิ่มผลิตภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และยกระดับมาตรฐานภาคอุตสาหกรรมให้สูงขึ้นในภาพรวมได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ได้อย่างแน่นอน
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดตั้ง "คณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม" หรือ "สปริงบอร์ด" (Spring Board) อันประกอบไปด้วย ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่มีประสบการณ์ในการบริหารงานธุรกิจอุตสาหกรรม จนเป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมผลิตภาพ และความสามารถในการแข่งขันใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการปรับโครงสร้าง (Institutional Role) เพื่อกำหนดแนวทางปรับโครงสร้างสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรมในภาพรวม ด้านการบูรณาการ (Integration Role) มีบทบาทในการประสานงานตลอดจนสร้างช่องทาง (Platform) ในการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนามาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรมในเชิงประชารัฐ ด้านการเพิ่มขีดความสามารถ (Capacity Building Role) เป็นการกำหนดกิจกรรมหรือโครงการเพื่อส่งเสริมศักยภาพ SMEs ผ่านโครงการ SMEs SPRING UP ซึ่งเป็นการรวมรวบผู้บริหารภาคเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ของประเทศ อาทิ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท 3 เอ็ม ประเทศไทย จำกัด บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) มาร่วมถ่ายทอดบทเรียนทั้งในด้านการบริหาร การจัดการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วจำนวน 1 รุ่น เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลที่ได้รับคือ ทำให้ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการกว่า 110 ราย เกิดการเชื่อมโยงธุรกิจต่อกันและมีการซื้อขายระหว่างกันทันทีกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มผลิตภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ และยกระดับมาตรฐานภาคอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 100 ล้านบาท
ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า จากความสำเร็จของโครงการในรุ่นที่ 1 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเดินหน้าเปิดอบรมในรุ่นที่ 2 และ 3 รุ่นละ 100 ราย ต่อเนื่องทันที โดยเริ่มอบรมระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม – 26 พฤศจิกายน 2559 นอกจากนี้ยังขยายผลต่อไปยังผู้ประกอบการที่อยู่ในภูมิภาคด้วยการจัดโครงการ SMEs Spring Up สัญจร ที่จังหวัดเชียงใหม่ และอุดรธานี ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย สำหรับกลุ่ม SMEs ที่เข้าร่วมอบรมครั้งนี้ ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป กลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค กลุ่มสุภาพและเคมีภัณฑ์ กลุ่มดิจิทัล และกลุ่มครีเอทีฟและบริการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าหลังจากจบโครงการจะทำให้ SMEs เกิดแนวคิดและมุมมองใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจจากขนาดเล็กให้ก้าวไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ได้ในอนาคต มีการต่อยอดธุรกิจร่วมกัน เกิดเป็นเครือข่ายธุรกิจที่มีการซื้อขายสินค้าระหว่างกัน สามารถวิเคราะห์ปัญหาเชิงลึกเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้ เกิดการเรียนรู้จากต้นแบบองค์กรที่มีประสิทธิภาพ จนสามารถนำแนวทางต่าง ๆ มาพัฒนาด้านผลิตภาพ มาตรฐาน และนวัตกรรม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากลต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากจบการโครงการจะทำให้ SMEs สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ได้อย่างแน่นอน
ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรโครงการ SMEs Spring Up ประกอบไปด้วยโครงสร้างหลักสูตร 4 หมวด ได้แก่ 1. หลักสูตรนโยบายของรัฐกับการส่งเสริม SMEs ผู้บริหารจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวนโยบายของรัฐในการผลักดันธุรกิจ SMEs และสามารถวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่มีต่อองค์กรธุรกิจของตน รวมทั้งสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ขององค์กรธุรกิจขอบตนให้รับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นได้ 2. หลักสูตร SMEs กับการต่อยอดมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม ผู้บริหารจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญในการนำมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม มาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการแข่งขันจากองค์กรธุรกิจต้นแบบ เพื่อต่อยอดการพัฒนาธุรกิจ SMEs ให้ประสบความสำเร็จในระดับสากล 3. หลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับแนวคิดการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดี สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเพิ่มผลิตภาพ สู่การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน และ 4. หลักสูตรการเสริมสร้างประสบการณ์ผู้ประกอบการเชิงประจักษ์ เป็นหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหารที่เข้าร่วมโครงการทำกิจกรรมศึกษาดูงานองค์กรด้านมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม รวมถึงกิจกรรมเวิร์คช็อป Discuss Coaching เชื่อมโยงนโยบายรัฐ ตลอดจนการระดมสมองเพื่อสรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศและพัฒนา SMEs ไทย
ด้านนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ เอสเอ็มอี สปริงอัพ (SMEs Spring Up) ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ และนับเป็นโอกาสอันดีที่ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างจริงจัง โดยผู้ประกอบการเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้แนวปฏิบัติของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เพื่อนำไปปรับใช้และแสวงหาโอกาสร่วมกันในการพัฒนาธุรกิจ เช่น การต่อยอดความคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ การสนับสนุนด้านเงินทุน รวมทั้งเครือข่ายทางการตลาด เป็นต้น นับเป็นการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโลกและการแข่งขันที่สูงขึ้น มีการนำองค์กรสู่ความสำเร็จด้วยแนวคิดมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวและพร้อมกับการแข่งขันในเวทีโลก เช่น การพัฒนาและผลิตสินค้าและบริการให้เป็นไปตามหรือดีกว่ามาตรฐานเพื่อนำไปสู่การยอมรับในสินค้าและบริการในระดับสากล มีการนำเกณฑ์และมาตรฐานต่างๆ มาปรับปรุงผลิตภาพเพื่อช่วยลดต้นทุนต่อหน่วยและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น ด้วยความมุ่งมั่นของภาครัฐและภาคเอกชนในครั้งนี้ จะเป็นพลังสำคัญตามแนวนโยบายประชารัฐที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้เติบโตแบบก้าวกระโดดได้อย่างมั่นคง นำไปสู่อัตราการเจริญเติบโตของประเทศ สังคม และเศรษฐกิจที่มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นต่อไป
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4531 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr