กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--studio mango
ในการประชุม Myanmar Connect 2016 ณ กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์ เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศพม่าและระดับภูมิภาค โดยมีผู้ให้บริการด้านสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่จากประเทศต่างๆทั้งในอาเซียนและเอเชียตบเท้าเข้าร่วม รวมทั้ง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ที่ได้ร่วมประชุมและขยายธุรกิจโทรคมนาคมไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเตรียมลงทุนวางแผนการเชื่อมต่อระบบแบบ NNI (Network-to-network interface) กับผู้ให้บริการรายใหญ่ของพม่า เพื่อสามารถให้บริการบนโครงข่าย IP ซึ่งจะทำให้ CAT สามารถให้บริการ MPLS, IP-VPN กับกลุ่มธุรกิจตามความต้องการของตลาดได้อย่างครบวงจรและหลากหลายมากยิ่งขึ้น ผ่านเส้นทางเคเบิลภาคพื้นดินจากย่างกุ้ง มายังประเทศไทยที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย รวมถึงเส้นทางผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำ SMW3 (South-East Asia - Middle East - Western Europe 3) ขึ้นบกที่ จ.สตูล ประเทศไทย
ด้านประเทศลาว CAT ได้เชื่อมต่อระบบแบบ NNI กับผู้ให้บริการหลักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งปัจจุบันสามารถเชื่อมโยงการให้บริการจากประเทศไทยตรงไปยังผู้ให้บริการในประเทศลาวผ่านจุดเชื่อมต่อที่ได้จัดตั้งไว้ในประเทศลาว และใน กัมพูชา CAT ได้วางแผนจะเชื่อมต่อระบบแบบ NNI ภายในปี 2559 นี้เพื่อรองรับการใช้งานของกลุ่มธุรกิจอาเซียนที่กำลังเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ นอกจากจะลงทุนและร่วมลงทุนกับพันธมิตรเพื่อขยายโครงข่ายโทรคมนาคมในระดับภูมิภาคอาเซียนแล้ว CAT ยังเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายพื้นฐานระหว่างประเทศ (Hard Infrastructure) ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการขยายโครงข่าย ประกอบด้วย เชื่อมต่อเส้นทางเคเบิลภาคพื้นดินจากกลุ่มอินโดจีนผ่านประเทศจีนไปยังทั่วโลกบนระบบต่างๆ โดยเป็นโครงการต่อยอดจากโครงข่าย GMS-ISN (Greater Mekong Sub-Region Information Superhighway Network) ซึ่งมีจุดเชื่อมต่อเคเบิลภาคพื้นดินไปยังประเทศจีนแล้ว อีกทั้งการศึกษาแนวทางการวางระบบเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ เชื่อมโยงไทยออกจากอ่าวไทยไปยังฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและอันดามันไปยังฝั่งมหาสมุทรอินเดีย รองรับการเป็น ASEAN Digital Hub ซึ่งการขยายโครงข่ายดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มเส้นทางในการส่งผ่านข้อมูลไปยังภูมิภาคต่าง ๆ และสามารถบริหารประสิทธิภาพโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมในภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของปริมาณการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัล โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการในให้บริการโครงข่ายทั้งไทยและประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่จะสามารถเชื่อมโยงใช้บริการด้านดิจิทัลผ่านประเทศไทยได้แบบครบวงจร
ล่าสุด CAT ได้เดินหน้าขยายโครงข่ายระหว่างประเทศ โดยอัพเกรดความจุ (Capacity) ณ จุดเชื่อมต่อให้บริการในประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีความต้องการใช้บริการเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนเต็มความจุที่ได้เปิดให้บริการเริ่มแรกภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี พร้อมทั้งจะมีแผนการขยายจุดเชื่อมต่อบริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ที่ประเทศสิงคโปร์เพิ่มเติมในเร็วๆนี้ สำหรับประเทศฮ่องกงซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจและมีการเชื่อมต่อไปยังจีนและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นจำนวนมาก CAT ได้มีการอัพเกรดความจุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การประชุมรายการสำคัญ 2 รายการที่ CAT เข้าร่วมประชุมที่ผ่านมาในปีนี้ ได้แก่ การประชุม ACC 2016 (Asian Carriers Conference) ณ กรุงเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ และ การประชุม Myanmar Connect 2016 ณ กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์ ที่ผ่านมา แสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับกลุ่มผู้ให้บริการชั้นนำในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งจะมีการร่วมพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมและการให้บริการร่วมกันอย่างต่อเนื่องต่อไป