กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669
สพฉ.จับมือโรงพยาบาลศิริราชจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินช่วงก่อนถึงโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน พร้อมเตรียมผลักดันกระจายจุดจอดรถพยาบาลระดับสูงให้สามารถเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้ภายใน8นาทีอย่างมีประสิทธิภาพ นำร่อง อุบล มหาสารคาม สงขลา และจังหวัดในพื้นที่ตะวันตกที่มีความร่วมมือส่งต่อกับโรงพยาบาลศิริราชอยู่แล้ว พร้อมเผยข้อมูลสถิติประเทศไทยมีผู้ป่วยฉุกเฉินเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาลปีละประมาณ 6 หมื่นคน
ที่ห้องประชุม ตึกอำนวยการ ชั้น 3 โรงพยาบาลศิริราช ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินช่วงก่อนถึงโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ระหว่าง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง นางพิศมัย พันธ์ครุฑ รองผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วม ลงนามในบันทึกความร่วมมือครั้งนี้
? ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า จากการเก็บสถิติของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติในการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินพบว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินที่เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาลมากกว่า 6 หมื่นคน โดยสาเหตุหลักของการเสียชีวิตนั้นมาจากภาวะของการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (STEMI) และการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เราเป็นกังวลมากที่สุดคือโรคหลอดเลือดสมองที่คร่าชีวิตหรือส่งผลให้เป็นอัมพฤกษ์ของคนไทยไปเป็นจำนวนมาก การลงนามบันทึกความร่วมมือของสพฉ.และโรงพยาบาลศิริราชในครั้งนี้นั้นจะทำให้เกิดการพัฒนาระบบต้นแบบ stroke fast track ในการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินจากโรคหลอดเลือดสมองช่วงก่อนถึงโรงพยาบาลให้ได้เข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด เพราะที่ผ่านมาประชาชนจำนวนมากไม่รู้ว่าตนเองมีอาการเจ็บป่วยของโรคหลอดเลือดสมองอาทิมือเท้าชา แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว ดวงตาพร่ามัว พอมีอาการต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่รีบมาพบแพทย์ นึกว่าทานยาด้วยตนเองอาการของโรคก็จะหายไป ทำให้เสียโอกาสได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และนอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องจุดจอดรถพยาบาลระดับสูงที่ยังจอดในจุดที่มารับผู้ป่วยได้ล่าช้ากว่า 8 นาที โดยสพฉ.และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจะร่วมกันให้ความรู้กับประชาชนให้หมั่นสังเกตอาการของตนเองและเมื่อมีอาการก็ให้รีบมาพบแพทย์ทันที นอกจากนี้แล้วเรายังจะร่วมกันในการผลักดันให้มีการกระจายจุดจอดรถพยาบาลระดับสูงให้อยู่ใกล้แหล่งชุมชนหรือที่อยู่อาศัยของประชาชนครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุดเพื่อที่จะเข้าไปรับตัวผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้เข้าสู่กระบวนการรักษาให้ได้ภายใน 8 นาที ตั้งแต่รถพยาบาลไปถึงผู้ป่วยก็สามารถเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้โดยผ่านระบบเทคโนโลยีการสื่อสารหรือเทเลเมดิซีน
รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือเราได้ร่วมกันผลักดันให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินช่วงก่อนถึงโรงพยาบาล เป็นโอกาสที่รถพยาบาลระดับสูงจะสามารถกระจายไปในพื้นที่ที่จะสามารถไปถึงผู้ป่วยฉุกเฉินทันเวลารวมถึงโอกาสที่จะมีการติดตั้งระบบเทเลเมดิซีนให้เพียงพอเพื่อให้แพทย์สามารถเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินในขณะเกิดเหตุได้จะได้ทำการช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ โดยเมื่อเจ้าหน้าที่รับผู้ป่วยฉุกเฉินจากภาวะโรคหลอดเลือดสมองระบบเทเลเมดิซีนในรถพยาบาลจะสามารถสื่อสารให้กับหัวหน้าแพทย์ได้ทราบว่าผู้ป่วยฉุกเฉินมีอาการเจ็บป่วยมากน้อยแค่ไหนอย่างไร และหากต้องทำการซีทีแสกนก็สามารถออกคำสั่งให้รถพยาบาลไปยังศูนย์ที่อยู่ใกล้ที่สุดทำเพื่อทำการซีทีแสกนหรือส่งไปฉีดยาละลายลิ่มเลือดในหลอดเลือดสมองที่อุดตันได้ทันที โดยไม่ได้เริ่มจากการที่ผู้ป่วยฉุกเฉินต้องไปถึงประตูโรงพยาบาลก่อน ปัจจุบันนี้ระบบทางด่วนในโรงพยาบาลตั่งแต่ประตูโรงพยาบาลถึงการฉีดยาละลายลิ่มเลือดสามารถร่นระยะเวลาที่ต้องผ่านหลายขั้นตอนได้อย่างรวดเร็วแล้ว แต่เวลาตั้งแต่เกิดอาการจนถึงโรงพยาบาลยังล่าช้า โครงการความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสพัฒนารูปแบบระบบ โดยเราจะได้เริ่มโครงการนำร่องในพื้นที่จังหวัด อุบลราชธานี มหาสารคาม สงขลา และจังหวัดในพื้นที่ทิศตะวันตก เป็นเบื้องต้น
"อย่างไรก็ตามผมอยากฝากถึงประชาชนให้คอยสังเกตตนเองให้ดี หากพบว่ามีอาการแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน มึนงง วิงเวียน ทรงตัวไม่ได้ ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ ซึ่งส่วนมากทุกอาการจะเกิดขึ้นพร้อมกันอย่างฉับพลัน ผู้ป่วยหรือผู้ที่พบเห็นผู้ป่วยจะต้องรีบขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ ด้วยการโทรสายด่วน 1669 เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันที เพราะหากเราช่วยผู้ป่วยได้ภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมงจะทำให้โอกาสรอดชีวิตและลดความพิการของผู้ป่วยก็จะมีมากขึ้นเพราะเซลล์สมองยังไม่ถูกทำลายอย่างถาวร "ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว