กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--สธ.
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งแต่เข้ามาทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ได้รับการร้องเรียนเรื่องคลินิกทำแท้งเถื่อนรวมทั้งหมอเถื่อน คลินิกเถื่อนจากประชาชนที่หวังดีเป็นจำนวนมาก และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จากกองการประกอบโรคศิลปะออก จับกุมร่วมกับตำรวจจำนวน 7 ครั้ง โดยจับสถานพยาบาลที่ทำแท้งเถื่อน 3 ราย คลินิกเถื่อน 2 แห่ง และคลินิกยาลดความอ้วน 2 ราย ซึ่งคาดว่าในสังคมไทยยังมีการประกอบการเช่นนี้อีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากยังมีประชาชนบางกลุ่มมีความต้องการหรืออาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ โดยเฉพาะในเรื่อง ของการทำแท้งเถื่อนนั้น เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากการจับกุมที่ผ่านมาพบว่าร้อย 90 เป็นบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ โดยมักจะใช้ในลักษณะการแอบอ้างว่าเป็นแพทย์ หรือบางรายใช้ลายเซ็นปลอมว่าเป็นแพทย์ ซึ่งหลังจากจับและดำเนินคดีแล้ว ส่วนใหญ่โทษไม่หนักหรือบางรายไม่สามารถเอาผิดได้เนื่องจากขาดหลักฐานประกอบทางกฎหมาย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของบทลงโทษทางกฎหมายก็เช่นกัน เดิมพระราชบัญญัติควบคุมสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ได้กำหนดโทษทำแท้งไว้ เนื่องจากเป็นเรื่องของประมวลกฎหมายอาญาที่ได้บัญญัติไว้แล้วคือ มาตรา 302 ผู้ทำแท้งโดยหญิงยินยอมมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากหญิงที่ยินยอมให้ทำแท้งได้รับอันตรายสาหัส โทษจะเพิ่มขึ้นเป็น 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากถึง แก่ความตายจะต้องจำคุกตั้งแต่ 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท โดยหญิงยินยอมให้กระทำมี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 301 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท ส่วนสถานพยาบาลเถื่อนหรือสถานพยาบาลที่ไม่ได้รับอนุญาต จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติ สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท ผู้ที่ทำการประกอบวิชาชีพ เวชกรรมโดยไม่ใช่แพทย์จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 โทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท--จบ--
-สส-