กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--กรมควบคุมโรค
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดโรคภัยต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งหน้าฝนถือเป็นฤดูกาลที่พบผู้ป่วยโรคนี้สูงสุด จากข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 4 ตุลาคม 2559 พบผู้ป่วย 108,469 ราย เสียชีวิต 17 ราย กลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ แรกเกิด-4 ปี (654.01 ต่อประชากรแสนคน) รองลงมาคือ 5-14 ปี
(411.78 ต่อประชากรแสนคน) 25-34 ปี (127.92 ต่อประชากรแสนคน) และ 15-24 ปี (115.15 ต่อประชากรแสนคน) ตามลำดับ
โดยในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือภาคเหนือ 46.92 ต่อประชากรแสนคน ภาคกลาง 42.32 ต่อประชากรแสนคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21.43 ต่อประชากรแสนคน และภาคใต้ 13.64 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ นอกจากนี้ ข้อมูลการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการของสำนักระบาดวิทยาร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ สาธารณสุข พบว่า ได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างจากผู้ป่วยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ( ILI ) และกลุ่มอาการปอดบวมจากโรงพยาบาลเครือข่าย จำนวน 23 ราย พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จำนวน 9 ราย คิดเป็นร้อยละ39.13 ในจำนวนเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั้งหมดจำแนกเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H1(2009) ร้อยละ 44.44 ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) ร้อยละ 44.44 และไข้หวัดใหญ่ชนิด B ร้อยละ 11.11
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่ที่ควรติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ จำนวน 36 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครพนม อุบลราชธานี เชียงใหม่ ลำปาง อุตรดิตถ์ พะเยา เชียงราย นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย เพชรบูรณ์ สุราษฏร์ธานี กระบี่ ตรัง และชุมพร นอกจากนี้ ยังพบว่าสถานการณ์ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้น จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าปีที่แล้วและค่ามัธยฐาน 5 ปี ประมาณ 4 เท่า และมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน คาดว่าในเดือนตุลาคมจะมีผู้ป่วยประมาณ 16,000 ราย และเดือนพฤศจิกายนจะมีผู้ป่วยประมาณ 11,000 ราย
สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่นั้น ติดต่อจากการไอ จามรดกัน อาการจะเริ่มด้วยมีไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ โดยในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้มากกว่าผู้ใหญ่ ส่วนอาการคัดจมูก จาม เจ็บคอ พบเป็นบางครั้งในไข้หวัดใหญ่ แต่จะพบในไข้หวัดมากกว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาการจะทุเลาลงและสามารถหายป่วยได้เองภายใน 5-7 วัน แต่บางรายที่มีภาวะแทรกซ้อน ทำให้เกิดอาการที่รุนแรง เช่น ปอดบวม สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ หายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
การป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ ควรดูแลตนเองด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่มีคนแออัด หมั่นทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะอาหาร ด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ส่วนผู้ป่วยขอให้พักผ่อนมากๆ และสวมหน้ากากอนามัย แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดเรียน หรือหยุดทำงาน และให้อยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ที่สำคัญผู้ปกครองต้องคอยสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กเล็กมักป่วยได้ง่ายและบางครั้งเด็กอาจไม่แสดงอาการออกมาให้เห็น ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการรุนแรงขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทันที นอกจากนี้ ขอแนะนำประชาชนว่า ในช่วงนี้ฝนตกบ่อยต้องระมัดระวังและดูแลสุขภาพของตนเองและบุตรหลาน โดยนำร่มหรือเสื้อกันฝนติดตัวทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน สร้างความอบอุ่นแก่ร่างกายเสมอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422