กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669
แผ่นการ์ดรูปวาดเด็กทารกพร้อมทั้งบอกอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ชัดเจนในรูปแบบของภาพวาดที่เสมือนการเจ็บป่วยของเด็กทารกจริงๆ เป็นหนึ่งในแผ่นการ์ดคัดแยกอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินจำนวนกว่า 150 แผ่น ที่คิดค้นขึ้นโดยสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ชุดแผ่นการ์ดกว่า 150 แผ่นนี้ถูกบรรจุอยู่ในกล่องเครื่องมือต้นแบบสื่อประกอบการฝึกอบรมการคัดแยกระดับความฉุกเฉิน หรือ Thailand Triage Training Kit (TTTK)
ทั้งนี้นวัตกรรมคัดแยกระดับความฉุกเฉินของผู้ป่วย หรือ Thailand Triage Training Kit (TTTK) นี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขใช้ในการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อให้เกิดทักษะในการคัดแยกระดับความฉุกเฉินของผู้ป่วยที่ได้มาตรฐานเดียวกัน
นพ.อัจฉริยะ แพงมา อดีตผู้อำนวยการสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และผู้คิดค้นนวัตกรรม Thailand Triage Training Kit (TTTK) กล่าวถึงที่มาที่ไปของนวัตกรรมชิ้นนี้ว่า สพฉ. ได้ออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง หลักเกณฑ์การประเมินเพื่อคัดแยกระดับความฉุกเฉินและมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉิน พ.ศ. 2554 ว่าด้วยการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉินให้สถานพยาบาล หน่วยปฏิบัติการ และผู้ปฏิบัติการดำเนินการตรวจคัดแยกระดับความฉุกเฉินและจัดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินตามลำดับความเร่งด่วนทางการแพทย์ฉุกเฉิน โดย สพฉ. ได้กำหนดให้ใช้เกณฑ์การประเมินเพื่อคัดแยกระดับความฉุกเฉินเป็น ESI Version 4 แบบ 5 ระดับ ซึ่งมีการประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดให้มีการฝึกอบรมสำหรับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ของโรงพยาบาลจากรัฐและเอกชนทั่วประเทศแต่ยังพบปัญหาที่ไม่มีหลักสูตรจำเพาะสำหรับการอบรม จึงทำให้แต่ละพื้นที่มีรูปแบบการสอนที่แตกต่างกัน
ดังนั้นสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สพฉ.จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติการฉุกเฉินในสถานพยาบาล โดยร่วมกับโรงพยาบาลลำปางในการพัฒนาการศึกษาและฝึกอบรมการคัดแยกระดับความฉุกเฉินให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้มีความรู้ และทักษะการคัดแยกระดับความฉุกเฉินที่ได้มาตรฐานเดียวกัน เพราะเมื่อทุกโรงพยาบาลมีความรู้ความเข้าในใจในเรื่องของการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินที่แม่นและตรงกันก็จะทำให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อตัวประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินที่จะได้รับการดูแลเมื่อประสบกับภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้แล้วนวัตกรรมชิ้นนี้ก็สามารถนำไปต่อยอดเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ,โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Stemi) หรือภาวะบาดเจ็บ (trauma) ที่มีอันตรายถึงชีวิตได้อย่างรวดเร็วในอนาคตอีกด้วย
ขณะที่นพ.ธานินทร์ โลเกศกระวี แพทย์จากโรงพยาบาลลำปางซึ่งเป็นผู้ร่วมพัฒนานวัตกรรมคัดแยกระดับความฉุกเฉินของผู้ป่วย หรือ Thailand Triage Training Kit (TTTK) ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพกล่าวว่า ในอดีตการคัดแยกความเจ็บป่วยฉุกเฉินของผู้ป่วยนั้นบุคลากรทางการแพทย์จะได้รับการฝึกคัดแยกจากโจทย์แห้งคือมีการแจกโจทย์และให้ทำข้อสอบ ซึ่งการฝึกในลักษณะนี้ไม่เหมือนกับการไปเรียนรู้จากคนไข้จริงๆ และการฝึกในลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้ความคิดเห็นและความรับรู้เรื่องการคัดแยกอาการของผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ตรงกันอีกด้วย ดังนั้นปัญหาก็คือเราจะอย่างไรก็ได้ที่จะให้บุคลาทางการแพทย์ได้เรียนรู้ในเรื่องของการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินเหมือนกับอยู่หน้างานให้เหมือนจริงที่สุดและตรงกันที่สุด ซึ่งเราไปเห็นต้นแบบที่ประเทศสวีเดนจึงนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับประเทศไทยเรา โดยนวัตกรรม Thailand Triage Training Kit (TTTK) ที่เราร่วมกันคิดค้นขึ้นมานี้จะประกอบไปด้วยชุดการ์ดรูปวาดที่เปรียบเสมือนผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลจริงๆ กว่า 100 คน 100 อาการ แตกต่างทั้งอายุ เพศและระดับการเจ็บป่วย ที่จะให้บุคลากรทางการแพทย์ได้เรียนรู้ในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินเหมือนกับเรียนรู้จากคนไข้จริงๆ
"เมื่อบุคลากรทางการแพทย์เรียนรู้จนเกิดความชำนาญแล้วความถูกต้องในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินก็จะแม่นยำขึ้นบุคลากรทางการแพทย์ก็จะมีความคิดเห็นที่ตรงกันเกี่ยวกับการคัดแยกอาการของผู้ป่วยฉุกเฉิน และเมื่อเราไปช่วยเหลือผู้ป่วยหน้างานจริงๆ การคัดแยกระดับการเจ็บป่วยฉุกเฉินของผู้ป่วยก็จะทำได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ไม่ผิดพลาดผู้ป่วยก็จะได้รับความปลอดภัยในการรักษาพยาบาลมากยิ่งขึ้นนั่นเอง" แพทย์จากโรงพยาบาลลำปางระบุ
สำหรับชุดสื่อประกอบการเรียนการสอนการคัดแยกระดับความฉุกเฉิน หรือ Thailand Triage Training Kit (TTTK) จะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ดังนี้ 1. แผ่นการ์ดคัดแยกอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือ Patient tag card 3 ชุด ชุดละ 150 ใบ แยกตามระดับของอาการผู้ป่วยฉุกเฉิน 2. Handy drive ที่บันทึกโปรแกรมและคำแนะนำการใช้โปรแกรม 3. แถบสี Triage 5 สี แดง ชมพู เหลือง เขียว ขาวตามระดับความรุนแรงฉุกเฉินของการเจ็บป่วยที่จะนำไว้ติดในแผ่นการ์ด Patient tag card เพื่อการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกต้อง โดยเบื้องต้นชุดสื่อประกอบการเรียนการสอนการคัดแยกระดับความฉุกเฉินชุดนี้นั้นได้ถูกส่งมอบให้กับโรงพยาบาล12 เขตทั่วประเทศไทย โดยตัวแทนของแต่ละเขตได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาร่วมอบรมการใช้งานกับ สพฉ. เรียบร้อยแล้วและในอนาคตอันใกล้นี้ สพฉ.จะขยายผลให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศไทยได้ใช้นวัตกรรมชุดนี้เพื่อที่จะช่วยให้การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินของประเทศไทยได้มาตรฐาน และส่งผลให้ประชาชนได้รับการรักษาเมื่อยามเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคตนั่นเอง