กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "กกต. ควรทำหน้าที่อะไร" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4 – 5 ตุลาคม 2559 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจาย ทุกระดับการศึกษา รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาค สุ่มตัวอย่างแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธี การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้การเลือกตั้ง ในทุกระดับ มีความสุจริตและเป็นธรรม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.96 ระบุว่า กกต. ควรทำหน้าที่ทั้งจัดการเลือกตั้งและกำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและยุติธรรม รองลงมา ร้อยละ 15.68 ระบุว่า กกต. ควรทำหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและยุติธรรมเท่านั้น ร้อยละ 8.32 ระบุว่า กกต. ควรทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งเท่านั้น ร้อยละ 0.32 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ให้ทำหน้าที่อย่างที่เคยทำอยู่, พิจารณาการรับสมัครนักการเมืองที่มีความสามารถ, ขณะที่บางส่วนระบุว่าไ ม่ควรมี กกต. และร้อยละ 2.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการให้ กกต. มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยกรณีสงสัยว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.40 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 20.80 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.40 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ขึ้นอยู่กับผู้ควบคุม กกต. และความโปร่งใสของ กกต., ควรมีหน่วยงานอื่นร่วมด้วย, ขณะที่บางส่วนระบุว่า ควรมีหน้าที่ในการสืบสวน ไต่สวน แต่ไม่ควรวินิจฉัย และร้อยละ 2.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการมีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งระดับจังหวัด ที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐผู้แทนองค์กรธุรกิจเอกชน ผู้แทนองค์กรประชาสังคมและชุมชน ทำหน้าที่อำนวยการการจัดการเลือกตั้งให้สุจริต และยุติธรรม ทั้งการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 85.68 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 11.20 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.08 ระบุว่า ควรรับผิดชอบอำนวยการการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นก็เพียงพอ และร้อยละ 3.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการให้ส่วนราชการอื่น ๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้จัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ส่วน กกต. มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งเฉพาะในระดับชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.56 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 44.64 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.08 ระบุว่า ไม่ควรมี กกต. และร้อยละ 4.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดให้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้งสามารถมีจำนวนหัวคะแนนได้ไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด (เช่น ไม่เกิน 5 คน) และทุกคนต้องจดทะเบียนและแสดงบัญชีทรัพย์สินและรายจ่าย ในการช่วยหาเสียงตามวงเงิน ที่กฎหมายกำหนด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.84 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 16.48 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.24 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ขณะที่บางส่วนระบุว่าไม่ควรมีหัวคะแนนเลย และร้อยละ 3.44 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการยกเลิก กกต. จังหวัด แต่กำหนดให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้งที่สรรหาจากส่วนกลาง จังหวัดละ 3 – 5 คนไปทำหน้าที่กำกับการเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.56 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 34.08 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 5.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.80 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.60 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.08 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.08 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 53.12 เป็นเพศชาย ร้อยละ 46.72 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.16 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่าง ร้อยละ 8.80 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 18.08 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.72 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.84 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 16.40 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ ร้อยละ 2.16 ไม่ระบุอายุ
ตัวอย่างร้อยละ 93.60 ระบุว่า นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.36 ระบุว่า นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.80 ระบุว่า นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 22.00 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 72.08 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.44 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.48 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 29.60 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 30.24 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.72 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 23.92 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.56 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.96 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 9.20 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.04 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.76 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.32 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 18.32 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 15.20 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.96 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 3.12 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 16.00 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.08 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.36 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 9.04 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.44 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.00 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 14.08 ไม่ระบุรายได้