กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--กทม.
ยุคผู้ว่าฯสมัครกับโฉมใหม่ของการคลายทุกข์ให้คนกรุงฯ เน้นคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการจัดตั้งศูนย์เอราวัณ เพื่อช่วยเหลือฉุกเฉินด้านการแพทย์และให้คำแนะนำด้านสุขภาพ ตลอด 24 ชั่วโมง ที่สำนักการแพทย์ เมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.44) เวลา 09.30 น. นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ เพื่อให้การดูแล ช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ ผู้ต้องการที่พึ่งทางใจ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมี นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นพ.อุดมศักดิ์ สังฆ์คุ้ม ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ นางผ่องลักษณ์ วาสิกศิริ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน นพ.ปิตินันท์ ณัฐรุจิโรจน์ รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ นางสาวอมรรัตน์ กฤตยานวัช ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชน ร่วมพิธีเปิด และเยี่ยมชมการทำงานของศูนย์เอราวัณด้วย
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่เกือบ 10 ล้านคน มีปัญหาที่ต้องดูแลแก้ไขอยู่หลายประการ โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชน กทม. โดยสำนักการแพทย์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งในยามปกติและฉุกเฉินจึงได้จัดตั้ง ศูนย์เอราวัณสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานครขึ้น เพื่อให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุมพื้นที่เขตกทม.ทั้งหมด ซึ่งบริการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นและช่วยนำตัวส่งโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็วจากแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร สำหรับผู้ปฏิบัติการศูนย์เอราวัณประกอบด้วยบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้านพร้อมให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินทันทีด้วยความ ตั้งใจ ตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้การปฏิบัติการช่วยเหลือในระบบสุขภาพฉุกเฉิน โดยมีทีมหน่วยแพทย์กู้ชีวิตคอยช่วยเหลือด้านสาธารณภัย อุบัติเหตุร้ายแรง หญิงใกล้คลอด และในกรณีที่ประชาชนมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินแต่ไม่วิกฤต แต่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์เอราวัณจะมีเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญด้านการวิเคราะห์โรคเพื่อจัดเจ้าหน้าที่นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาต่อไปผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า สำนักการแพทย์ได้จัดตั้ง ศูนย์ประสานการปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ ทั้งในภาวะฉุกเฉินและวิกฤต ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง โดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานการให้ความช่วยเหลือประชาชนในภาวะฉุกเฉินและวิกฤต 6 รูปแบบ คือ 1.บริการนำส่งโรงพยาบาล (Ambulance Service) สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินหรือผู้บาดเจ็บซึ่งต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือผู้ที่ประสบปัญหาในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากบ้านไปโรงพยาบาล โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมด้านการปฐมพยาบาลพร้อมด้วยรถพยาบาลฉุกเฉิน ซึ่งมีอุปกรณ์การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นที่จำเป็น 2.บริการหน่วยแพทย์กู้ชีวิต (S.M.A.R.T.) โดยให้การรักษาผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บในภาวะวิกฤต ณ จุดเกิดเหตุ โดยทีมแพทย์ พยาบาล พร้อมด้วยรถพยาบาลฉุกเฉินหรือเรือพยาบาลฉุกเฉิน ซึ่งมีอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงในการช่วยชีวิต 3.บริการให้คำปรึกษาแนะนำทางโทรศัพท์ (สายด่วนกู้ใจ) แก่ประชาชน 4.ศูนย์ประสานงานระบบส่งต่อ (Referral System) ระหว่างหน่วยงานสังกัดสำนักอนามัยและโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 5.ศูนย์ระบบข้อมูลข่าวสาร (Medical Information Center) สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการข้อมูลทางการแพทย์และบริการของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ 6.บริการห้องสมุดอีเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ ( Electronic Library)
สำหรับศูนย์เอราวัณได้มีการจัดแบ่งพื้นที่ที่ให้บริการไว้เป็น 5 โซน แต่ละโซนจะมีรถฉุกเฉินไว้คอยให้บริการจำนวน 3 คัน ได้แก่ โซนที่ 1 รถคันที่ 1 รถจอดที่สำนักงานเขตมีนบุรี ให้บริการในพื้นที่เขตบึงกุ่ม ลาดพร้าว คลองสามวา บางกะปิ มีนบุรี รถคันที่ 2 รถจอดที่สำนักงานเขตลาดกระบังให้บริการในพื้นที่เขตประเวศ ลาดกระบัง รถคันที่ 3 จอดรถที่สำนักงานเขตหนองจอก ให้บริการในพื้นที่เขต หนองจอก โซนที่ 2 รถคันที่ 1 จอดรถที่สำนักงานขตสวนหลวง ให้บริการในพื้นที่เขตบางนา พระโขนง สวนหลวง รถคันที่ 2 จอดรถที่สำนักงานเขตคลองเตย ให้บริการในพื้นที่เขตวัฒนา บางคอแหลม คลองเตย รถคันที่ 3 จอดรถที่สำนักงานเขตสาทร ให้บริการในพื้นที่เขตบางรัก สัมพันธวงศ์ ยานนาวา สาทร โซนที่ 3 รถคันที่ 1 จอดรถที่พุทธมณฑลสาย 3 ให้บริการในพื้นที่เขตหนองแขม ภาษีเจริญ ทวีวัฒนา รถคันที่ 2 จอดรถที่สำนักงานเขตจอมทอง ให้บริการในพื้นที่เขตทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ จอมทอง รถคันที่ 3 จอดรถที่สำนักงานเขตบางขุนเทียน ให้บริการในพื้นที่เขตบางขุนเทียน บางแค บางบอน โซนที่ 4 รถคันที่ 1 จอดรถที่ศาลเจ้าเห้งเจีย (ตลิ่งชัน) ให้บริการในพื้นที่เขตตลิ่งชัน บางพลัด บางกอกน้อย รถคันที่ 2 จอดรถที่สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ ให้บริการในพื้นที่ บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี รถคันที่ 3 จอดรถที่สำนักงานเขตดุสิต ให้บริการในพื้นที่เขตดุสิต พระนคร บางซื่อ โซนที่ 5 รถคันที่ 1 จอดรถที่ สำนักงานเขตพญาไท ให้บริการในพื้นที่เขตพญาไท ปทุมวัน ราชเทวี ดินแดง ห้วยขวาง จตุจักร รถคันที่ 2 จอดรถที่สำนักงานเขตหลักสี่ ให้บริการในพื้นที่เขตหลักสี่ ดอนเมือง สะพานใหม่ รถคันที่ 3 จอดรถที่ซอยพหลโยธิน 48 ให้บริการในพื้นที่เขตสายไหม บางเขน
ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาแจ้งเหตุฉุกเฉินจะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นพยาบาลอาสาสมัครจากโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ของกรุงเทพมหานครคอยรับเรื่องและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณตามพื้นที่ที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุที่สุด แล้วนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครหรือโรงพยาบาลที่ป่วยต้องการจะเข้ารับการรักษาหากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์หมายเลข 1646 หรือ 223-9401-3 หรือต้องการติดต่อหน่วยแพทย์กู้ชีวิต โทรศัพท์หมายเลข 1554 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น--จบ--
-นห-