กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรฯการันตีความพร้อม 100% การจัดประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2 ยิ่งใหญ่ มากกว่า 60 ประเทศ 13รัฐมนตรีทั่วโลกตอบรับ ร่วมผนึกกำลังประชุมแก้ปัญหาน้ำ สร้างความยั่งยืนด้านอาหาร กรมชลประทานเตรียมเปิดศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ฯ และจัดนิทรรศการแสดงพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำชลประทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทั่วโลกได้รับรู้ มั่นใจจะช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางชลประทานอาเซียน
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในงานแถลงข่าว การจัดการประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2 (The 2nd World Irrigation Forum : WIF2) และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศ ครั้งที่ 67 (The 67th International Executive Council Meeting : 67th IEC Meeting) ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าการที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชลประทานโลกและการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศในครั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ ( International Commission on Irrigation and Drainage : ICID )เห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านชลประทานมากที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยการประชุมจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2559 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้หัวข้อ "การบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก :บทบาทการชลประทานต่อความยั่งยืนด้านอาหาร" (Water Management in Changing World : Role of Irrigation for Sustainable Food Production)
"ขณะนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในระดับรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูง เอกอัครราชทูต ผู้บริหารจากสถาบันการศึกษา นักวิชาการด้านน้ำและชลประทาน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตอบรับเข้าร่วมประชุมแล้ว 60 ประเทศ จำนวนประมาณ 1,200 คน โดยเป็นระดับรัฐมนตรียืนยันที่จะมาร่วมประชุมแล้ว 13 ประเทศ คือ จีน อียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ เนปาล ปากีสถาน รัสเซีย แอฟริกาใต้ ซูดาน ยูเครน อุซเบกิสถาน ซิมบับเว และอยู่ระหว่างรอตอบรับอีกกว่า 10 ประเทศ" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว
สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ 3 หัวข้อหลักๆ คือ 1. การแสวงหาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง น้ำ อาหาร พลังงานและระบบนิเวศ 2. การร่วมกำหนดวิธีการรับมือที่เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่มีผลต่อปริมาณน้ำทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง และ 3. เป็นการใช้ระบบชลประทานและการระบายน้ำเพื่อลดความยากจนและความหิวโหย โดยร่วมวางแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานให้เพียงพอที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยใช้ทำการเกษตร
" รัฐบาลได้ให้ความสำคัญของการจัดประชุมครั้งนี้มาก เพราะนอกจากจะทำให้ได้รับทราบความก้าวหน้าของการชลประทานของไทย และมีผลทางอ้อมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของประทศแล้ว ที่สำคัญที่สุดยังจะทำให้ทั่วโลกได้รับทราบถึงพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจะมีการจัดนิทรรศการนำเสนอแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำชลประทานตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยในส่วนของนิทรรศการจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมได้ในวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2559 " รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าว
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังจะใช้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ต้อนรับและดูงานของผู้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีและผู้ที่สนใจ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พลิกผืนดินที่แห้งแล้งกว่า 8,500 ไร่ให้เป็นผืนดินที่อุดมบูรณ์ จนกลายเป็นศูนย์การศึกษาที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆ แล้วนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผล ทั้งการพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ การพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนการส่งเสริมการประกอบอาชีพต่างๆ ไม่ว่า การเกษตร การประมง ปศุสัตว์ รวมทั้งด้านการเกษตรอุตสาหกรรมอีกด้วย ดังมีพระราชดำริว่า ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือน "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" หรืออีกนัยหนึ่งเป็น "สรุปผลของการพัฒนา" ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวในตอนท้ายว่า การประชุมชลประทานโลกครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบชลประทานเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย โดยในส่วนของประเทศไทยยังได้คัดเลือก Smart Farmer หรือ เกษตรกรปราดเปรื่อง จำนวน 4 คน เข้าร่วมประชุมและร่วมพบปะหารือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่างๆกับ Smart Farmer ของประเทศต่างๆ อาทิ ซูดาน อินเดีย อิหร่าน กว่า 10 คน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาต่อยอดความรู้ ความสามารถ ความเข้มแข็ง ทักษะ ประสบการณ์ใหม่ๆ และเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ของเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรในอนาคตอย่างมั่นคง ยั่งยืน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของโลกตามนโยบายของรัฐบาล