กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยมีมรสุมพัดผ่านทำให้เกิดฝนตกปานกลางถึงหนักมากในหลายพื้นที่ จนเกิดปัญหาน้ำท่วมขังนาน ทำให้น้ำเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น เกิดมีลูกน้ำและยุงรำคาญ ส่งผลเสียต่อสุขภาพอนามัยของชุมชนในเมือง ดังนั้น เพื่อช่วยลดปัญหา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน จึงแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพกรมพัฒนาที่ดิน สารเร่งซุปเปอร์ พด. 6 ทำสารบำบัดน้ำเน่าเสียและช่วยขจัดกลิ่นเหม็นจากเศษขยะสดหรือเศษอาหารเหลือทิ้งในครัวเรือน ที่มีต้นทุนต่ำและสามารถทำเองได้ด้วยวิธีที่ง่าย ๆ ซึ่งได้มีการพัฒนาให้มีคุณภาพที่สูงขึ้นช่วยกำจัดลูกน้ำและยุ่งรำคาญ ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบและโรคเท้าช้างได้ด้วย
ด้าน นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สารเร่งซุปเปอร์ พด. 6 เป็นสารที่ช่วยย่อยสลายขยะสด ซึ่งประกอบด้วยวัสดุอินทรีย์จากเศษอาหาร ผัก ผลไม้ เศษปลาสด และเนื้อสัตว์ โดยกิจกรรมของจุลินทรีย์ในสภาพที่ไม่ออกซิเจน ทำให้ได้ของเหลวสีน้ำตาลซึ่งมีคุณสมบัติในการทำความสะอาดคอกสัตว์ บำบัดน้ำเน่าเสียที่ท่วมขังตามที่ต่าง ๆ ช่วยลดกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำ หากพื้นที่ใดมีน้ำท่วมขังนิ่งและเกิดลูกน้ำยุงรำคาญ ควรใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. 6 (ชนิดผง) โรยลงไปในพื้นที่น้ำท่วมขังนิ่ง จะช่วยกำจัดและลดปัญหาลูกน้ำยุงรำคาญได้ผลเป็นอย่างดี
"สำหรับวิธีการทำสารบำบัดน้ำเน่าเสีย ให้นำเศษอาหารและกากน้ำตาลผสมลงในถังหมัก ละลายสารเร่งซุปเปอร์ พด. 6 ในน้ำ 10 ลิตร เทลงในถังหมักอีกครั้งหนึ่ง ผสมให้เข้ากัน จากนั้นปิดฝาไม่ต้องสนิท เพื่อให้อากาศสามารถ่ายเทได้ เวลาในการหมัก 20 วัน โดยให้ถังหมักอยู่ในที่ร่ม เพราะหาก โดนแสงแดดมากไปการทำปฏิกิริยาของจุลินทรีย์จะเจริญเติบโตเร็วเกินไป อาจทำให้เกิดเน่าเสียใช้งานไม่ได้ ส่วนวิธีการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. 6 ในการบำบัดน้ำเน่าเสีย ให้ใช้อัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 10 ส่วน เทใส่ในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังหรือน้ำเน่าเหม็นทได้ทุกวัน หรือทุก 3 วัน ช่วยแก้ไขปัญหาและดับกลิ่นเหม็นของน้ำเน่าเสียได้เป็นอย่างดี" อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจทั่วไป สามารถขอรับบริการสารเร่งซุปเปอร์ พด. 6 ได้ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินในเขต 1 – 12 สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน โทร. 02 – 941 – 1565 หรือ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมพัฒนาที่ดิน โทร. 02 – 579 – 8515