กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--มทร.ธัญบุรี
3 สถาบันร่วมวิจัยคิดค้นนวัตกรรม "PMK Glasses Navigator" แว่นตานำทาง ต้นทุนผลิตชุดละประมาณ 5,000-6,000บาท เข้ามาช่วยผู้ป่วยทางสายตา นำโดย ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ผศ.ดร.เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี ผู้อำนวยการกองเวชศาสตร์ฟื้นฟู พร้อมด้วย พ.อ.รศ.นพ.สุธี พานิชกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ผนึกกำลังคิดค้นร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี เปิดเผยว่า เนื่องจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามีทหารที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะและใบหน้า ในบางรายนอกจากบาดเจ็บทางสมองแล้วอาจสูญเสียการมองเห็น ดังนั้นแว่นตานำทางนี้จะมีประโยชน์ในการช่วยให้พัฒนาทักษะในด้านการเดิน โดยแว่นตานำทางนี้จะช่วยในการฝึกเดินหลบหลีกสิ่งกรีดขวาง ผู้ป่วยทางสายตาไม่ได้พิการมาแต่กำเนิด อุปกรณ์แว่นตานำทางช่วยให้ผู้ป่วยได้เดินอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ตาบอดรายอื่น ๆ ได้อีกด้วย
ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม ผู้ออกแบบแว่นตานำทาง"PMK Glasses Navigator" เล่า แว่นตานำทาง ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญส่วนแรกเป็นโครงสร้าง (Hardware) จะประกอบไปด้วยโครงสร้างกล่อง
พลาสติกแบบสี่เหลี่ยม ไมโครคอนโทรลเลอร์ ชุดตรวจจับและวัดระยะทางด้วยคลื่นอัลตร้าโซนิค ชุดบันทึกเสียง แบตเตอรี่ ขนาด 9โวลต์ ส่วนที่สองจะเป็นซอฟต์แวร์ โดยใช้ภาษาซีในการเขียนควบคุมการทำงานทั้งระบบ สำหรับหลักการทำงานผู้ป่วยสวมแว่นตานำทาง เมื่อผู้ป่วยเคลื่อนไหวตนเองด้วยการเดิน เจอสิ่งกรีดขวางคลื่นอัลตร้าโซนิคจะตรวจจับและวัดสัญญาณสะท้อนกลับมาพร้อมกับมีเสียงบอกระยะ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงและสามารถรับรู้ถึงสิ่งกรีดขวางด้านหน้าว่าอยู่ที่ระยะเท่าไร จะได้หลบหลีกสิ่งกรีดขวางได้
ซึ่งเจ้าแว่นตานำทางนี้สามารถวัดระยะได้ไกลถึง 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 0.2 กิโลกรัม สำหรับระยะเวลาในการใช้งานขึ้นอยู่กับผู้ป่วย โดยแบตเตอรี่ขนาด 9 โวลต์ อยู่ได้ประมาณ 2 เดือน สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านสามารถเลือกใช้กล่องนำทางขนาดเล็กได้อีกด้วย โดยกล่องนำทางขนาดเล็กนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยทางสายตาที่อยู่ที่บ้านไม่ต้องสวมแว่นตา สามารถถือกล่องนำทางขนาดเล็กไว้ด้านหน้า พร้อมกับกดปุ่มทุกครั้งที่ต้องการวัดระยะทาง ทำให้ผู้ป่วยสามารถได้ยินเสียงและรู้ระยะทางว่ามีสิ่งกรีดขวางภายในบ้านได้
สิบเอกวชิรศักดิ์ พินิจภาสกร เล่าว่า ตนเองประสบอุบัติเหตุจากการเก็บกู้ระเบิดทำให้ส่งผลต่อสายตา ทำให้ตาบอกทั้งสองข้าง เมื่อเข้ารักษาและฟื้นฟูที่นี้ทางคณะผู้วิจัยได้คิดค้นนวัตกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย เนื่องจากตนเองไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด ในการนำเครื่องมือเข้ามาช่วยจะได้เพิ่มความสะดวกสบายให้กับตนเองมากยิ่งขึ้น สำหรับแว่นนำสายตาของอาจารย์ทำให้ตนเองรู้ระยะว่าข้างหน้ามีสิ่งกีดขวางอะไรหรือไม สามารถป้องกันไม่ให้ตนเองเดินชน ลดการเกิดอุบัติเหตุ
สำหรับแว่นตานำทางและกล่องนำทางนี้ทีมผู้วิจัย โดยได้นำไปใช้กับผู้ป่วยโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ต้นทุนในการผลิตชุดละประมาณ 5,000-6,000 บาท ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ โทร. 086- 8821475