กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
สกว. เดินหน้าสร้างพลังองค์ความรู้สู่สังคม ด้วยไอเดียพร้อมเสิร์ฟ เปิดโครงการประลองไอเดียสร้างสรรค์สังคม 'วิจัยแปลงร่าง 2 ตอน กินอยู่' เฟ้นหาที่สุดของเยาวชนนักสร้างสรรค์สื่ออินโฟกราฟิก และโมชั่นกราฟิก ย่อยงานวิจัย ต่อยอดการสื่อสาร สร้างประโยชน์สู่สาธารณะ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. เดินหน้าขยายองค์ความรู้ เปิดโครงการประลองไอเดียสร้างสรรค์สังคมอีกครั้ง กับการประกวด 'วิจัยแปลงร่าง 2 ตอน กินอยู่' การประกวดสร้างสรรค์สื่ออินโฟกราฟิก และโมชั่นกราฟิก เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทย ได้แสดงความสามารถ ศึกษา ตีความ ย่อยงานวิจัยคุณภาพของ สกว. ในด้านอาหารที่เกี่ยวข้องกับชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วภูมิภาคประเทศไทย เปลี่ยนรูปแบบจากหนังสือเล่ม มาเป็นสื่อสร้างสรรค์ อินโฟกราฟิก และโมชั่นกราฟิก ให้ใช้ง่าย เข้าใจง่าย เพื่อการสื่อสารที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ และการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนในวงกว้าง พร้อมมุ่งพัฒนานักวิจัย และต่อยอดผลงานการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ศาสตราจารย์นายแพทย์ สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. องค์กรที่มีความเป็นเลิศ และผู้นำด้านการบริหารจัดการการวิจัยในเอเชีย กล่าวว่า "จากความสำเร็จของโครงการ 'นวัตกรรมการสื่อสารจากงานวิจัยอาหารเพื่อการบริโภคอย่างถูกต้อง' หรือเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า 'โครงการวิจัยแปลงร่าง ตอน กินเป็น' ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2558 โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์สู่สาธารณะของ สกว. เป็นกิจกรรมในรูปแบบการประกวดการออกแบบสื่ออินโฟกราฟิก ซึ่งได้รับความสนใจ และการตอบรับจากนิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ส่งผลงานเข้ามาประกวดเป็นจำนวนมาก ในปีนี้ ทาง สกว. จึงเดินหน้าจัดโครงการประลองไอเดียสร้างสรรค์สังคมอีกครั้ง กับการประกวด 'วิจัยแปลงร่าง 2 ตอน กินอยู่'ด้วยเป้าหมายของ สกว. ในการส่งเสริม สนับสนุน ให้ทุนงานวิจัย และต่อยอดผลงาน นำไปใช้ประโยชน์สู่สาธารณะเผยแพร่ออกไปสู่ประชาชนในวงกว้าง โดยได้มีการคัดเลือกงานวิจัยจำนวนหลายร้อยชิ้น ในหัวข้องานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ 'อาหารกับการพัฒนาเชิงพื้นที่' เป็นองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยอาหารของ สกว. ในหลายด้าน เช่น ระบบการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมศักยภาพของอาหาร และการจัดการความมั่นคงทางอาหาร แบบแผนการบริโภคอาหาร คุณค่าทางโภชนาการ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะอาหารมีความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ และถิ่นที่อยู่อาศัยของประชาชน มีทั้งอาหารที่มีความเป็นสากล และอาหารที่มีความเป็นท้องถิ่น การพัฒนาอาหารในเชิงพื้นที่จะส่งผลดีทั้งในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคงทางอาหาร ด้านวัฒนธรรม และด้านความสัมพันธ์ของประชาชนในท้องถิ่น การส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องอาหารที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นจึงเป็นความสอดคล้องกับนโยบายในการพัฒนาประเทศในเชิงฐานรากที่จะกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นเหล่านั้นโดยการบริโภคอย่างถูกต้อง เพราะการที่ประชาชนในชาติมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกาย และจิตใจ เป็นสิ่งแสดงถึงความเจริญก้าวหน้า และความมั่นคงของประเทศที่สำคัญประการหนึ่ง"
"รวมถึงสิ่งที่สำคัญ ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของ สกว. คือ การให้ทุนในด้านงานวิจัยต่างๆ เพื่อส่งเสริมสังคม และสร้างองค์ความรู้ในหลากหลายมิติให้กับประเทศไทย และเพื่อเป็นการต่อยอดงานดังกล่าว ให้ตอบสนองในการสื่อสารยุคปัจจุบัน ที่มีสื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก การพัฒนาเนื้อหาแปลงร่างงานวิจัยเปลี่ยนรูปแบบจากหนังสือเล่ม มาเป็นสื่อสร้างสรรค์ ในรูปแบบอินโฟกราฟิก และโมชั่นกราฟิกที่สวยงาม น่าสนใจ เข้าถึงคนได้ง่าย จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการต่อยอดภารกิจดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อรวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับอาหารของสกว. อย่างเป็นระบบ และนำมาถ่ายทอดสู่สาธารณชนผ่านสื่ออินโฟกราฟิก และโมชั่นกราฟิก 2. เพื่อศึกษา และพัฒนากระบวนการออกแบบสื่อที่มาจากงานวิจัย เพื่อใช้ในการสื่อสาร และถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริโภคอย่างถูกต้อง สู่สาธารณชน ผ่านกระบวนการประกวดผลงานการออกแบบสื่ออินโฟกราฟิก และโมชั่นกราฟิก และ 3. เพื่อผลิตสื่ออินโฟกราฟิก และโมชั่นกราฟิก ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริโภคสู่สาธารณชน" ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. กล่าวเพิ่มเติม
"สำหรับการประกวด 'วิจัยแปลงร่าง 2 ตอน กินอยู่' เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้กับเยาวชนนิสิตนักศึกษา ในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา ได้โชว์พลังความคิดสร้างสรรค์ ประยุกต์ใช้ในการผลิตชิ้นงานเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ผ่านสื่อสร้างสรรค์ โดยเยาวชนที่สนใจ สามารถส่งผลงานประกวดสร้างสรรค์สื่ออินโฟกราฟิก และโมชั่นกราฟิก โดยเลือกงานวิจัย 1 เรื่อง จากงานวิจัยทั้งหมดที่โครงการกำหนดไว้ นำข้อมูลจากงานวิจัยที่เลือกมาออกแบบสื่ออินโฟกราฟิก 1 ชิ้น หรือ โมชั่นกราฟิก 1 ชิ้น หรือ ทั้งอินโฟกราฟิก และโมชั่นกราฟิก นำเสนอมุมมองอย่างน่าสนใจ โดยมีเงินรางวัลรวมทั้งสิ้น 250,000 บาท สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมประกวดโครงการ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติม และดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ http://transform.trf.or.th โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2559 และสามารถส่งเอกสาร และหลักฐานการเข้าประกวดที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ประกวดโครงการวิจัยแปลงร่าง งานสื่อสารสังคม) ชั้น 15 อาคาร SM Tower 979/17-21 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400"
ศาสตราจารย์นายแพทย์ สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ เชื่อมั่นว่า "โครงการ 'วิจัยแปลงร่าง 2 ตอน กินอยู่' การประกวดสร้างสรรค์สื่ออินโฟกราฟิก และโมชั่นกราฟิก เพื่อส่งเสริมการรับรู้งานวิจัยของ สกว. ในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญเพื่อการพัฒนา เรียนรู้ ให้แก่เยาวชนไทย นำองค์ความรู้จากผลงานวิจัย เพื่อประโยชน์นำไปใช้ต่อยอดสื่อสาร สู่สาธารณะต่อไป"