กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--
ม. ธรรมศาสตร์ เปิดตัวแคมเปญ Thammasat Climate Actionชูต้นแบบการเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน มุ่งสร้างจิตสำนึกคนรุ่นใหม่พร้อมนำทุกความรู้สู่ชุมชน สร้างไลฟสไตล์และสังคมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ม.ธรรมศาสตร์ ประกาศจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และ สอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมยุคใหม่ ที่ต้องการเห็นองค์กรมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งที่ผ่านมาจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ต่างก็ได้ร่วมกันจัดทำโครงการที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างสภาพแวดล้อมให้มีความเป็นสีเขียว ที่ไม่เพียงให้ความใกล้ชิดกับธรรมชาติ แต่ในการดำเนินการ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องไปกับการพัฒนาบนเส้นทางสู่ความยั่งยืนในรูปแบบเดียวกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
โดยล่าสุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้จัดทำแคมเปญ Thammasat Climate Action ซึ่งไม่เพียงนำแนวคิดการสร้างมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน ที่คำนึงถึงการดำเนินงานในแง่มุมรอบด้าน ที่สะท้อนถึงความใส่ใจ ในสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านหลากหลายโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยแคมเปญดังกล่าวนี้จะ นำแนวคิดยั่งยืน สู่ความร่วมมือของคนรุ่นใหม่ และ ขยายการรับรู้ออกไปสู่ชุมชนรอบนอก เพื่อสร้างความร่วมมือที่นำไปสู่การพัฒนาชุมชนสีเขียว ทั้งยังร่วมกันเป็นเครือข่ายในการเรียนรู้และพัฒนา ที่สำคัญคือ ส่งเสริมให้มีการลงปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ตามวิสัยทัศน์ของ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวไว้
"เรากำลังสร้างและผลักดันให้เกิด Eco system ใหม่ภายในมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นต้นแบบของ Green Campus กับก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนผ่านแคมเปญ Thammasat Climate Action และจะขยายการดำเนินการไปยังอีกสองศูนย์ ก็คือ ลำปาง และ ที่พัทยา ต่อไป ซึ่งการได้ให้นักศึกษานั้นลงพื้นที่เพื่อเห็นปัญหาของสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์หาทางแก้ ที่สำคัญคือมีส่วนร่วมกับสังคม นั่นคือ CSR-in process ที่เป็นพันธกิจ ความรับผิดชอบในกระบวนการทำหน้าที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยตรง"
ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนั้น ก็ได้รับการสานต่อโดยการสนับสนุนของหน่วยงานสำคัญในมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ที่ไม่เพียงได้ร่วมกันดำเนินแคมเปญอย่างเดียว แต่ยังผลักดันการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ไปสู่เป้าหมายในแนวคิดการเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน โดย รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและบริหารศูนย์รังสิต ได้กล่าวถึง การขับเคลื่อนดังกล่าวว่า
"ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรานั้น ท่านจะเห็นว่ามีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้นมาก รวมไปถึงที่สังเกตเห็นได้เด่นชัดก็คือ งานด้านสถาปัตยกรรม ที่เรามีการปรับปรุงอาคารเก่าให้ดีขึ้น ทั้งยังเป็นการปรับเพื่อให้เกิดเป็นการนำพลังงานธรรมชาติมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกันกับพื้นที่สาธารณะโดยรอบมหาวิทยาลัย เราก็ได้มีการสื่อสารไปยังน้องๆ นักศึกษาผ่านการเรียนการสอนและกิจกรรมที่นักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยเบื้องต้นได้เข้ามาช่วยกันสร้างโครงการด้านการประหยัดพลังงานและการจัดการขยะ ทำให้นักศึกษาได้ฝึกคิดและแก้ปัญหาในการจัดการสิ่งแวดล้อม พร้อมกับได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบสู่ความยั่งยืนตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง"
ซึ่งในแต่ละโครงการนั้น ก็มีความหลากหลายและครอบคลุมตามการดำเนินงานในแนวทางปฏิบัติของ การก้าวสู่การเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน ทั้งที่ได้มีการดำเนินการให้เห็นเป็นความสำเร็จไปแล้ว และ กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งในส่วนของงานอาคาร การปรับภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัย การสร้างพลังงานทดแทน หรือการจัดการขยะ ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน ม.ธรรมศาสตร์ ก็ได้กล่าวถึงรายละเอียดแต่ละโครงการสำคัญ ได้อย่างน่าสนใจว่า
"สิ่งที่ทำให้แคมเปญ Thammasat Climate Action นั้นโดดเด่นก็คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้เพียงปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้สวยงามและเกิดประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่เราได้มีการปรับรูปแบบโครงการให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตประจำวันของพวกนักศึกษา โดยเราได้หยิบยกเรื่องใกล้ตัวที่เป็นปัญหาที่มักถูกมองข้าม มาต่อยอดเป็นโครงการให้เกิดการมีส่วนร่วมจริง เช่น เรื่องของการใช้น้ำดื่มที่อยู่ในขวดพลาสติก เมื่อดื่มแล้วทิ้งกลายเป็นขยะ เราจึงมีแนวคิดในการนำภาชนะบรรจุมารีไซเคิล ซึ่งตรงนี้เราก็ปรับให้เข้ากับการใช้ชีวิต คือ เกิดความสนุกไปด้วยการแลกแต้มสะสม หรือ นำแต้มจากการนำขวดมาหยอดที่ตู้แล้วเปลี่ยนเป็นเงินออม ซึ่งจะเห็นว่าโครงการต่างๆ ของแคมเปญนี้นั้น แทบจะถูกผสมผสานเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของเราไปโดยอัตโนมัติ" และในส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ การนำแนวคิดและการดำเนินงานไปสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งการมุ่งความร่วมมือไปที่บุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพื่อให้เห็นภาพการลงมือปฏิบัติจริงและได้ผลจริง จึงเป็นสิ่งที่รองศาสตราจารย์ดร. ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ กล่าวถึงความสำคัญดังกล่าวว่า
"แกนหลักของแคมเปญก็คือ มันต้องเกิดจากความเข้าใจและยอมรับจริงๆ การได้มีประสบการณ์ร่วมกับ หลายๆ โครงการ จะทำให้นักศึกษา หรือ คนทั่วไปในมหาวิทยาลัยนั้นได้เห็นถึงข้อดีในการได้ร่วมกันสร้าง Eco-system ในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การประหยัดพลังงานหรือปรับไลฟ์สไตล์ของตัวเองให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเราสามารถทำให้มันสนุก เราทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัวได้ เช่น เพื่อนใหม่ปีหนึ่ง ได้รับขวดน้ำสำหรับบรรจุน้ำดื่ม หรือ การพกถุงผ้าไว้สำหรับใส่ของใช้ระหว่างวัน ซึ่งต่อไปเรื่องพวกนี้จะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป แต่การเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมจะอยู่ในชีวิตประจำวันตลอดไป"
ดังคำขวัญของ มธ. ที่ว่า "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน" ตอนนี้ประชาคมธรรมศาสตร์นั้นจริงจังเป็นอย่างมากในการที่จะเดินหน้าสู่การเป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน ที่ไม่เพียงสร้างพื้นที่สีเขียวให้เกิดขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยให้ได้มากที่สุด แต่ยังต้องการที่จะนำความรู้และความสำเร็จที่เกิดจากการดำเนินโครงการต่างๆ ถ่ายทอดไปสู่ชุมชนโดยรอบ เพื่อสร้างสังคมสีเขียวที่ใหญ่ขึ้น เข้าถึงมากขึ้น และเป็นสังคมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงไปด้วย ด้วยจุดเริ่มสำคัญกับแคมเปญ Thammasat Climate Action