กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 แจงผลศึกษาแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ สินค้าข้าว ในอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เผยพื้นที่ปลูกข้าวรวม 73,465 ไร่ ส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่เหมาะสมมากและปานกลาง แนะ พื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว ต้องส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยน และมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง โดยร่วมมือกับภาครัฐในการบริหารจัดการร่วมกัน
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท (สศท.7) ได้ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning) ข้าว อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท พบว่า มีพื้นที่ปลูกข้าว 73,465 ไร่ ส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่เหมาะสมมากและปานกลาง (S1, S2) รวม 70,394 ไร่ และปลูกในพื้นที่ความเหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3, N) รวม 3,071 ไร่
จากการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนสุทธิของการผลิตข้าว พบว่า ในพื้นที่เหมาะสมมากและปานกลาง เกษตรกรจะทำการผลิตข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 เพื่อการบริโภคมากที่สุด โดยมีผลตอบแทนสุทธิสูงสุดเฉลี่ยไร่ละ 2,183.18 บาท มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไร่ละ 5,774.47 บาท ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 747.76 กิโลกรัม และราคาที่เกษตรขายได้เฉลี่ย 10.64 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาที่เกษตรกรขายได้จะสูงกว่าราคาข้าวขาวทั่วไป
รองลงมาเป็นการผลิตข้าวเพื่อจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ พันธุ์ กข. โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยไร่ละ 1,153.81 บาท มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 6,647.21 บาทต่อไร่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกที่ใช้เครื่องจักรในการปักดำ การเพาะปลูกมีผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 859.33 กิโลกรัม และราคาที่เกษตรกรขายได้ 9.08 บาทต่อกิโลกรัม
ส่วนการผลิตข้าวพันธุ์ กข. เพื่อการบริโภค ให้ผลตอบแทนสุทธิน้อยที่สุด โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยต่อไร่ 404.57 บาท มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 5,004.04 บาทต่อไร่ มีผลผลิตเฉลี่ย 724.17 กิโลกรัมต่อไร่ และราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 7.47 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ข้าวที่ผลิตได้จะเป็นข้าวขาวที่ขายให้กับโรงสีเพื่อการแปรสภาพเท่านั้น
สำหรับการผลิตข้าวในพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม เป็นการผลิตข้าวพันธุ์ กข.เพื่อบริโภค โดยผลตอบแทนสุทธิติดลบ ถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไร่ละ 4,969.83 บาท ซึ่งน้อยกว่าการผลิตข้าวในพื้นที่เหมาะสมมากและปานกลาง แต่ผลผลิตที่ได้รับเฉลี่ยต่อไร่น้อยกว่า โดยมีผลผลิตเฉลี่ยเพียง 659.30 กิโลกรัมต่อไร่ และเกษตรกรได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 4,969.83 บาทต่อไร่ ซึ่งขาดทุนสุทธิเฉลี่ย 45.72 บาทต่อไร่
นอกจากนี้ สศท.7 ยังได้ศึกษาพืชทางเลือกให้เกษตรกรในพื้นที่ ได้แก่ อ้อยโรงงาน ซึ่งพบว่า มีผลตอบแทนสุทธิ 931.19 บาทต่อไร่ และมันสำปะหลัง มีผลตอบแทนสุทธิ 960.18 บาทต่อไร่ และได้ศึกษาพืชหลังนา ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลตอบแทนสุทธิ 2,713.97 บาทต่อไร่ ถั่วเขียวมีผลตอบแทนสุทธิ 2,190.19 บาทต่อไร่ ไม้ดอกดาวเรือง มีผลตอบแทนสุทธิ 14,775.94 บาทต่อไร่ และการเลี้ยงไก่ไข่ ที่นับเป็นกิจกรรมเสริมที่สร้างรายได้เป็นอย่างดี โดยเลี้ยงแบบอินทรีย์ ไก่ไข่ 100 ตัว จะได้รับกำไรเฉลี่ยะ 120.84 บาทต่อวัน ในระยะการเลี้ยง 1 ปี
อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษา พบว่า ควรเพิ่มศักยภาพของพื้นที่เหมาะสมในการปลูกข้าว โดยส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและผลิตข้าวเพื่อบริโภคคุณภาพดีที่ตรงความต้องการของตลาด และสนับสนุนการปลูกพืชหลังนา ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว ควรส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยน โดยทำกิจกรรมทางเลือกใหม่ที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ ทั้งนี้ นโยบายการผลิตควรมีความเชื่อมโยงไปสู่การตลาด โดยกระบวนการบูรณาการของทุกภาคส่วน และเกษตรกรต้องมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง อีกทั้ง เกษตรกรควรสนใจศึกษาข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวกับวิทยาการด้านการเกษตรใหม่ๆ อยู่เสมอ และให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) ร่วมกัน