กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--มรภ.สงขลา
ทีมบุหงามาลตี มรภ.สงขลา สร้างชื่อให้ประเทศไทย ประกวดซัมเป็งนานาชาติครั้งแรกคว้ารองชนะเลิศอันดับ 2 เผยสื่อมวลชนอินโดชอบรอยยิ้มสยาม-การแสดงงดงาม ยกเป็นขวัญใจชาวอินโด
น.ส.รัชยา วีรการณ์ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทีมบุหงามาลตี ซึ่งก่อตั้งโดย น.ส.ทัศนียา คัญทะชา อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชานาฏศิลป์ฯ เป็นตัวแทนประเทศไทยเดินทางไปประกวดซาปิน (ซัมเป็ง) ระดับนานาชาติ ในงานเทศกาลการแสดงพื้นบ้าน Siak Bamadah ครั้งที่ 14 ณ เมือง Siak sri Indrapura ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งการแสดงชุดซาปิน สกาปูซีเระ จากทีมบุหงามาลตี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 จากทั้งหมด 12 ทีมที่เข้าร่วมประกวด ใน 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ไทย โดยรางวัลชนะเลิศตกเป็นของทีมจากสิงคโปร์ และรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมจากมาเลเซีย การเต้นซัมเป็งเป็นการแสดงที่สื่อถึงการอวยพรให้เกิดความสุขสวัสดิ์ นิยมใช้แสดงในงานมงคล เช่น งานต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง บุคคลสำคัญ หรือใช้แสดงในพิธีแต่งงาน ก่อนหน้านี้ทีมบุหงามาลตี ได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน พ.ศ. 2558 ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประเภทวงซัมเป็ง จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และได้เผยแพร่การเต้นซัมเป็งอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับเชิญให้เข้าร่วมประกวดซาปิน (ซัมเป็ง) ระดับนานาชาติในงานดังกล่าว โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้
อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง มรภ.สงขลา กล่าวว่า ดีใจกับรางวัลที่ได้มา เนื่องจากเป็นการเข้าร่วมครั้งแรกของ มรภ.สงขลา และทีมอื่นๆ ที่เข้าแข่งขันล้วนเป็นทีมที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญด้านนี้อย่างมาก ทีมนักแสดงของเราทั้ง 10 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาในโปรแกรมฯ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในพื้นที่อย่างมาก ถือเป็นขวัญใจชาวอินโดก็ว่าได้ เช่นเดียวกับการแสดงของ มรภ.สงขลา ที่ได้รับเสียงชื่นชมจากชาวอินโดอย่างมากเช่นกัน นอกจากนั้น ทีมบุหงามาลตี ยังได้รับเกียรติเข้าร่วมขบวนพาเหรดวัฒนธรรม และร่วมแสดงในพิธีเปิดเทศกาลด้วย
ด้าน นายธนาธร หนูคูขุด นักศึกษาปี 4 โปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง มรภ.สงขลา ในฐานะนักแสดง กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้แสดงในระดับเวทีนานาชาติ จึงรู้สึกตื่นเต้นและกดดันมาก แต่นักแสดงทุกคนต่างทำหน้าที่เต้นซัมเป็งในแบบของไทย จนสามารถเรียกเสียงปรบมือได้อย่างกึกก้อง ผู้ชมชาวต่างชาติชื่นชอบ ตัวนักแสดงก็ภูมิใจ ก่อนไปประกวดพวกตนมีเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น เนื่องจากเพื่อนๆ ในทีมทุกคนอยู่ในช่วงฝึกประสบการณ์ แต่เป็นหนึ่งสัปดาห์ของการฝึกอย่างหนัก ดังนั้น จึงรู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ถือเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายอย่างยิ่ง โดยการแสดงแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงการเดินพาเหรด ช่วงการแสดงภาคค่ำ และ ช่วงการแข่งขัน
"จากการเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ ผมได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม เรียนรู้ภาษาถิ่นอินโดนีเซีย รวมทั้งเทคนิคการเต้นของทีมอื่นๆ และดูงานของต่างประเทศเพื่อเป็นองค์ความรู้ใหม่ สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ ที่สำคัญ ชาวอินโดให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และให้เกียรติประเทศไทยอย่างมาก แม้การเดินทางและสภาพอากาศที่ประเทศอินโดนีเซีย จะทำให้พวกเราค่อนข้างเหนื่อยล้า แต่ทุกครั้งที่ไทยทำการแสดงจบลง ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมอย่างดี ทำให้ความเหนื่อยล้านั้นหายไปเป็นปลิดทิ้ง และเมื่อการแข่งขันเสร็จสิ้น ทีมนักแสดงไม่ว่าจะ สิงค์โปร มาเลเซีย หรือไทยที่ได้รับรางวัล แม้กระทั่งทีมที่ไม่ได้รางวัล ต่างก็ยินดีบันทึกภาพความทรงจำร่วมกันอย่างมีความสุข มิตรภาพหลังการแข่งขันยังคงสวยงามตลอดไป" นายธนาธร กล่าว น.ส. ปิยนาถ ลิ้มวิจิตร นักศึกษาโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง อีกคนหนึ่ง กล่าวว่า ขณะประกวดรู้สึกตื่นเต้นมาก แต่ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าไม่ได้มาแข่งกับใคร เพียงอยากทำในสิ่งที่รักให้ดีที่สุดเท่านั้น ซึ่งการมาครั้งนี้ทำให้ตนได้รับประสบการณ์มากมาย ได้ภาษามากขึ้น ได้รับมิตรภาพและการต้อนรับเป็นอย่างดี ทุกคนชื่นชอบประเทศไทย ชาวอินโดบอกว่าตนยิ้มเก่งเลยได้เป็นขวัญใจช่างภาพ ขอบคุณโอกาสดีๆ จากอาจารย์โปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง ที่ทำให้ได้สัมผัสประสบการณ์ดีๆ เช่นนี้ ขอบคุณวงอัสลีมาลา ขอบคุณครูบุ๋ย ครูเชาว์ ที่ทำให้มีชุดสวยๆ สง่าดูดีกันทุกคนไม่แพ้ชาติใด ขอบคุณพี่เกตที่ทำให้พวกตนได้ทำในสิ่งที่รัก ขอบคุณผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ หวังว่าคงได้มาเยี่ยมเยือนอินโดนีเซียอีกครั้ง