กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--กรมประมง
กระเบนราหู จัดเป็นสัตว์น้ำจืด ขนาดใหญ่ที่ยังคงพบในแหล่งน้ำสำคัญ อาทิ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยาฯ ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ห้ามผู้ใดจับหรือทำการประมงตามประกาศจังหวัดสมุทรสงคราม โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 และได้รับการเสนอให้เป็น สัตว์ป่าคุ้มครอง และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ ปลากระเบนราหูถือว่าเป็นตัวชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่สำคัญโดยเฉพาะคุณภาพน้ำของพื้นที่ต่างๆ ในประเทศอีกด้วย สำหรับน้ำแม่กลองถือว่าเป็นแหล่งที่พบปลากระเบนราหูชุกชุมที่สุด จังหวัดสมุทรสงครามจึงพยายามอนุรักษ์และรักษาจำนวนประชากรปลากระเบนราหูไว้ด้วยการออกประกาศห้ามจับปลากระเบนในแหล่งน้ำภายในจังหวัด
นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากกรณีชาวบ้านทั้งในพื้นที่อ.อัมพวา อ.เมืองสมุทรสงคราม และอ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ได้พบซากปลากระเบนลอยตายในแม่น้ำแม่กลอง ตามกระแสน้ำธรรมชาติเป็นจำนวนมากพร้อมทั้งพบการตายของปลากะพงในกระชัง กรมประมงได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นเฝ้าระวังอย่างเร่งด่วน พร้อมให้ความช่วยเหลือในการเก็บซากปลากระเบนราหูที่ลอยตายในแม่น้ำลำคลองไปทำลายด้วยวิธีการฝังกลบ และร่วมตรวจสอบหาสาเหตุการตายโดยเร็วที่สุด โดยในเบื้องต้นมุ่งประเด็นไปที่เรื่องของคุณภาพน้ำ ซึ่งผลจากการตรวจวัดพบปริมาณค่าออกซิเจนค่อนข้างต่ำ สำหรับสาเหตุการตายที่แท้จริงยังจำเป็นที่จะต้องหาคำตอบที่ชัดเจนอีกครั้ง เนื่องจากกรณีนี้มีเพียงปลากระเบนราหูและปลากะพงที่เลี้ยงในกระชังเท่านั้นที่ตายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งวิถีการดำรงชีวิตของปลากระเบนจะอาศัยอยู่ที่พื้นท้องน้ำ จึงมีความเชื่อกันว่าอาจเกิดมาจากการปล่อยน้ำเสียทำให้ระบบนิเวศพื้นท้องน้ำเปลี่ยนแปลงกะทันหัน และเนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีทั้งน้ำขึ้น น้ำลง ฝนตก และความคดเคี้ยวของแม่น้ำ ซึ่งนอกจากจะทำให้ไม่มั่นใจว่ามลพิษมาจากทิศทางไหนประกอบกับมีน้ำหลากในช่วงฝนตกหนักทำให้อุณหภูมิในน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงค่าออกซิเจนที่ต่ำอาจทำให้ปลาปรับตัวไม่ทันจนอาจน็อกตาย ในด้านของสพญ.นันทริกา ชันชื่อ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำจุฬาฯ ได้เจาะเลือดปลากระเบนตัวที่รอดชีวิตนำไปตรวจหาสารพิษซึ่งจากผลการตรวจเลือดล่าสุดพบว่าปลากระเบนได้รับสารเคมีที่เป็นพิษต่อระบบไต และระบบเหงือกทำให้ความสามารถในการควบคุมความสมดุลในร่างกายเสียไป ดังนั้นสาเหตุหลักที่ปลากระเบนตายจึงคาดว่าน่าจะเกิดจากสารพิษ ทั้งนี้ยังบอกไม่ได้ว่าเกิดจากสารพิษใดคงต้องสำรวจในพื้นที่ว่ามีการปล่อยสารอะไรออกมาบ้าง แต่ในเบื้องต้นคาดว่าไม่น่าจะใช้ยาฆ่าแมลงเพราะยาฆ่าแมลงมีผลต่อตับ และจากผลการตรวจค่าตับปลากระเบนไม่เปลี่ยนแปลงมาก ซึ่งสารที่พบเป็นสารที่ออกฤทธิ์เฉียบพลันไม่ได้ออกฤทธิ์สะสมจึงคาดว่าไม่ใช่โลหะหนัก อีกทั้งปลากระเบนที่ช่วยขึ้นมาจากแม่น้ำได้มีการสำรอกอาหาร แสดงว่าไม่ใช่อาการป่วยตามธรรมชาติซึ่งปลาป่วยจะไม่กินอาหาร
ขณะนี้สถานการณ์โดยรวมอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง ถึงแม้จำนวนการตายของปลากระเบนราหูและปลากะพงจะลดจำนวนน้อยลงแล้ว แต่กรมประมงก็ยังไม่นิ่งนอนใจยังจัดส่งนักวิชาการประมงลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์อย่างต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งนอกจากกรมประมงแล้ว หน่วยงานจากภาครัฐและภาคประชาสังคมอื่นก็ยังร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา เช่น ทีมงานนายอำเภอทั้ง 3 อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน รวมทั้งจิตอาสาภาคประชาชน ได้ออกมาช่วยเฝ้าระวัง โดยหากพบเจอปลากระเบนราหูที่ยังไม่ตายลอยขึ้นมาเหนือน้ำจะมีการแจ้งมายังกรมประมงเพื่อเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือ เนื่องจากขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือค่อนข้างยุ่งยากหากไม่มีประสบการณ์ อาจจะโดนเงี่ยงกระเบนซึ่งบริเวณดังกล่าวมีพิษก่อให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้งปลากระเบนแต่ละตัวค่อนข้างมีน้ำหนักมาก เมื่อเวลาที่นำขึ้นจากน้ำในระหว่างการขนย้ายต้องรีบให้ออกซิเจน และต้องใช้กำลังคนค่อนข้างมากในการช่วยเหลือ
ด้านยอดรวมการตายของสัตว์น้ำ ปลากระเบนราหูจากการเก็บข้อมูลของกรมประมงตั้งแต่วันที่
29 ก.ย. 59 -10 ต.ค.59 พบว่ามีปลากระเบนราหูตายจำนวน 45 ตัว รอดตายจำนวน 2 ตัว เป็นเพศเมียทั้งคู่ และพบว่าทั้ง 2 ตัวมีลูกในท้องจำนวน 5 ตัว ตัวแรกมีลูก 2 ตัว ตัวที่สองมีลูก 3 ซึ่งขณะนี้ปลากระเบนเหล่านี้ถูกนำไปพักฟื้นอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสงคราม เพื่อรอให้ให้สถานการณ์กลับมาสู่ปกติและให้ปลากระเบนทั้งสองคลอดลูกออกมาก่อน หลังจากนั้นกรมประมงจะนำไปปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำ นอกจากนี้กรมประมงยังเตรียมแผนฟื้นฟูประชากรปลากระเบนราหูในระยะยาว โดยจะเพาะขยายพันธุ์และสร้างเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังระบบนิเวศของลุ่มน้ำของประเทศทั้งหมด สำหรับจังหวัดสมุทรสงครามกรมประมงเตรียมปลากระเบนราหูมาปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำในธรรมชาติเพิ่มเติมอีกด้วย ด้านปลากะพงที่เลี้ยงในกระชังพบว่ามีการตายนั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบปลิงใส ค่าน้ำมีออกซิเจนต่ำรวมถึงพบตะกอนในน้ำสูง ทำให้ตะกอนไปติดที่เหงือกปลาซึ่งส่งผลต่อระบบการหายใจจึงอาจทำให้ปลาตายได้
ท้ายนี้ กรมประมงขอแจ้งเตือนไปยังเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในกระชังในจังหวัดสมุทรสงคราม ขอให้เร่งจับสัตว์น้ำในกระชังขึ้นมาจำหน่ายโดยเร็ว พร้อมทั้งควรงดปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงกระชังในช่วงระยะเวลานี้เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น และหากท่านใดพบเห็นกระเบนราหูตาย หรือเกยตื้นบริเวณชายฝั่งให้รีบแจ้งสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม โทร.034 711 258 รองอธิบดีฯ กล่าว
ปลากระเบนราหูถือเป็นสัตว์น้ำจืดที่มีขนาดใหญ่และหายากที่สุดในโลก แต่ก็พบจำนวนมากในประเทศไทย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราจะต้องช่วยกันอนุรักษ์ปลากระเบนชนิดนี้เอาไว้ เพื่อไม่ให้ปลากระเบนราหูสูญพันธุ์และยังคงอยู่คู่กับลุ่มแม่น้ำต่างๆ ของประเทศไทยสืบต่อไป