กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) หรือ SCBT โดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-Term Local-Currency IDR) ปรับลดอันดับเครดิตเป็น 'A-'/ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ จาก 'A' และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้น (Short-Term Local-Currency IDR ปรับลดอันดับเครดิตเป็น 'F2' จาก 'F1'
ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign-Currency IDR) ของ SCBT ที่ 'A-' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงอยู่ด้านท้าย
การประกาศอันดับเครดิตนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ฟิทช์ประกาศลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ Standard Chartered Bank (SCB) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ SCBT เป็น 'a' จาก 'a+' เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2559 (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในรายงาน Fitch Affirms Standard Chartered at 'A+'; Outlook Revised to Stable ที่ www.fitchratings.com)
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต–อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและอันดับเครดิตสนับสนุน
อันดับเครดิตสากล (IDR) ของ SCBT อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตความแกร่งทางการเงิน (Viability Rating หรือ VR) ของ SCB ที่ 'a' อยู่หนึ่งอันดับ ซึ่งเป็นการพิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากธนาคารแม่ เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่า SCBT เป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อ SCB
อย่างไรก็ตามการปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB ไม่มีผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ SCBT ที่ 'A-' เนื่องจากก่อนหน้านี้อันดับเครดิตดังกล่าวถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ 'A-' อันดับเครดิตสนับสนุนได้รับการคงอันดับเครดิตเนื่องจากฟิทช์เชื่อว่ายังคงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติจากกลุ่ม SC ในกรณีที่มีความจำเป็น
แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพสำหรับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ SCB
อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ SCBT ได้รับการคงอันดับเนื่องจากสถานะด้านเครดิตของธนาคารซึ่งสะท้อนโดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ที่ 'A-' ยังอยู่ในระดับสูงกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ 'BBB+'
ฟิทช์มองว่า SCBT เป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อ SCB โดยพิจารณาจากการที่ธนาคารมี บทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจธนาคารระหว่างประเทศและการขยายเครือข่ายทางธุรกิจของกลุ่ม ไปยังกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง การถือหุ้นเกือบทั้งหมดของ SCB (99.87%) ความเชื่อมโยงในการดำเนินงานระหว่าง SCBT กับธนาคารแม่ที่อยู่ในระดับสูงและการให้ความช่วยเหลือในด้านการเงินแก่ SCBT มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีต
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต–อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ของ SCBT สะท้อนถึงฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคารซึ่งปรับตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมและธนาคารพาณิชย์อื่นที่มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินใกล้เคียงกันอย่างต่อเนื่องโดยอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารอยู่ที่ 27.17% ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2559 (จาก 19.55% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556) ทั้งนี้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับตัวดีขึ้น มีปัจจัยหลักมาจากยอดสินเชื่อที่ปรับตัวลดลงเนื่องจากนโยบายในการลดความเสี่ยงของธนาคารในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารได้ปรับตัวลดลงประมาณ 27% จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคมปี 2556 นอกจากนี้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารยังสะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรที่ด้อยกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นเนื่องจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ยังท้าทายยังคงกดดันความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าของธนาคาร
ฟิทช์คาดว่าความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ถือว่าอยู่ในระดับสูงของธนาคาร (ในด้านของฐานะเงินกองทุนและอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) น่าจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากการปรับตัวแย่ลงของคุณภาพของสินทรัพย์และผลประกอบการ นอกจากนี้คุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรของธนาคารน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นเนื่องจากการปรับมาตรฐานในการให้สินเชื่อให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาและค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้ที่มีแนวโน้มที่จะลดลง
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต –อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตสนับสนุน
การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน SCB อาจส่งผลกระทบต่อทั้งอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว ของ SCBT ในขณะเดียวกันการปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB น่าจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลกสุลเงินในประเทศระยะยาวแต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลกสุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ SCBT เนื่องจากอันดับเครดิตดังกล่าวจะถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ 'A-'
อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBT เป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุด จึงไม่มีปัจจัยใดที่อาจทำให้อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่มอันดับ อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิอาจถูกปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ถูกปรับลดลงไปต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศไทยที่ 'BBB+'
การปรับตัวลดลงของแนวโน้มที่ SCB จะให้การสนับสนุนแก่ SCBT (ซึ่งอาจแสดงได้จากการลดลงของสัดส่วนการถือหุ้นใน SCBT อย่างมีนัยสำคัญ) อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิต แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น การเปลี่ยนแปลงของเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยอาจส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ SCBT
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
ฟิทช์มองว่าโอกาสในการปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินมีค่อนข้างจำกัดในระยะปานกลาง เว้นแต่ธนาคารจะมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกันการปรับตัวอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญของคุณภาพสินทรัพย์ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรและระดับเงินกองทุนลดลงอย่างมาก อาจส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ SCBT มีดังนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'A-' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F2'
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวปรับลดอันดับเป็น 'A-' จาก'A' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นปรับลดอันดับเป็น 'F2' จาก 'F1'
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคงอันดับที่ 'bbb'
- อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ '1'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1+(tha)'
-อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของโครงการหุ้นกู้ระยะสั้นไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันคงอันดับที่ 'F1+(tha)'