กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการโคเด๊กซ์ สาขาผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ ครั้งที่ 28 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.สหรัฐอเมริกา ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา มกอช. พร้อมด้วยอุปนายกและประธานกลุ่มผู้ผลิตสับปะรด สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปเข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ไขมาตรฐานสับปะรดกระป๋องที่มีการประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2524 ให้สอดคล้องกับรูปแบบการค้าในปัจจุบัน ซึ่งได้ขยายขอบข่ายให้ครอบคลุมถึงสับปะรดที่ไม่เจาะแกน และสับปะรดที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวหรือถุงเพาซ์ด้วย โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ประเทศไทยเป็นประธานคณะทำงานแก้ไขมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งผลสำเร็จจากการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยได้นำเสนอผลการแก้ไขมาตรฐานสับปะรดกระป๋องให้คณะกรรมการพิจารณา จนได้รับการยอมรับให้เสนอคณะกรรมาธิการโคเด๊กซ์ เพื่อประกาศรับรองให้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศโดยเร็วต่อไป
สำหรับมาตรฐานสับปะรดกระป๋องฉบับใหม่มีการแก้ไขในประเด็นสำคัญๆ 5 เรื่อง ดังนี้ 1. ปรับเกณฑ์ความสม่ำเสมอของสับปะรดแบบลูกเต๋า ให้ยอมรับขนาดที่เล็กกว่า 8 มิลลิเมตร หรือน้ำหนักน้อยกว่า 3 กรัม โดยไม่ถือว่าเป็นสับปะรดที่ไม่ได้ขนาด หรือไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันตลาดมีความต้องการสับปะรดลูกเต๋าขนาดเล็กเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมไอศกรีมและขนมอบ 2. ปรับข้อกำหนดของตำหนิที่เกิดจากการจิกตาสับปะรดให้ชัดเจนมากขึ้น จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดขนาดรอยจิกตาไว้ โดยกำหนดใหม่เป็นรอยจิกตาที่มีขนาดมากกว่า 2 มิลลิเมตร จึงจะถือว่าเป็นตำหนิ 3. ปรับแก้ไขน้ำหนักบรรจุขั้นต่ำของเนื้อสับปะรดให้สอดคล้องกับแนวการปฏิบัติทางการค้า โดยกำหนดให้มีน้ำหนักเนื้อสับปะรดในช่วง 58-78% ขึ้นกับรูปแบบผลิตภัณฑ์และชนิดการบรรจุ 4. อนุญาตให้ใช้สารป้องกันการเกิดการออกซิเดชั่นในสับปะรดที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวหรือถุงเพาซ์ 5. เพิ่มรูปแบบผลิตภัณฑ์สับปะรดชนิดไม่เจาะแกน เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคที่ต้องการอาหารที่มีใยอาหารมากขึ้น ขณะเดียวกัน มาตรฐานฉบับนี้จะไม่บังคับใช้กับผลิตภัณฑ์ที่เติมสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล เช่น ซูคราโลส เป็นต้น
ดังนั้น ความสำเร็จในการเจรจาแก้ไขมาตรฐานสับปะรดกระป๋องในครั้งนี้ คาดว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคของอุตสาหกรรมการผลิตสับปะรดกระป๋องของไทย และส่งผลให้ไทยสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกสับปะรดสับปะรดกระป๋องไปยังตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะการคงเป็นอันดับ 1 ในการส่งออกสับปะรดกระป๋องไปยังตลาดโลก และครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 50 % ซึ่งเฉลี่ยในแต่ละปีไทยสามารถส่งออกได้ประมาณ 35,000 – 40,000 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ แคนนาดา เป็นต้น