กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--Siam PR Consultant
นางมัลลิกา ภูมิวาร ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีศุลกากรและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี คอนซัลติ้ง จำกัด เปิดเผยถึง กรณีที่ร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตที่เพิ่งเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ที่ต้องการผลักดันโครงสร้างการเปลี่ยนฐานการคิดภาษีจากราคาหน้าโรงงานหรือราคานำเข้ามาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ ซึ่งจะใช้บังคับกับสินค้าที่เสียภาษีสรรพสามิต 20 ประเภท เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ น้ำอัดลม เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์เครื่องหอม เครื่องสำอาง น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน แบตเตอรี่ เครื่องดื่มชูกำลัง ฯลฯ โดยนางมัลลิกา กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนฐานคิดภาษีสรรพสามิตมาเป็นราคาขายปลีกนับเป็นการปรับเปลี่ยนที่ดีและถือเป็นหัวใจของการปฏิรูประบบภาษีสรรพสามิตที่จะเพิ่มความโปร่งใสและช่วยลดข้อพิพาทเรื่องสำแดงราคาต่ำที่เป็นปัญหาระหว่างรัฐและเอกชนมาโดยตลอด เนื่องจากราคาขายปลีกเป็นราคาที่เปิดเผยและรับรู้กันในสาธารณะ กระนั้นตามที่มีรายงานข่าวว่าร่างกฎหมายที่กำลังอยู่ในชั้นพิจารณาของสนช. กลับได้มีการกำหนดวิธีการคำนวณราคาขายปลีกให้ผู้ประกอบการต้องคำนวณ จากต้นทุน ค่าบริหารจัดการ และกำไรมาตรฐาน อีกทั้งยังเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการปฏิเสธราคาขายปลีกและให้อำนาจในการกำหนดราคาขายปลีกของผู้ประกอบการเอง หากไม่เชื่อว่าราคาที่แจ้งเป็นราคาที่สอดคล้องกับกลไกตลาด
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีและการค้าระหว่างประเทศให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า "การเพิ่มข้อกำหนดในการคำนวณราคาขายปลีกของผู้ประกอบการหรือการให้อำนาจอธิบดีมากำหนดราคาใหม่ได้เองเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลใจให้กับภาคเอกชน เนื่องจากมองดูแล้วก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากระบบเดิมๆ ที่เคยทำมา สุดท้ายวัฏจักรเดิมคือการถกเถียงกันเรื่องการรับราคาก็จะกลับมา เกิดการแทรกแซงกลไกราคาและกลไกตลาดได้ ซึ่งหากรัฐเข้ามากำหนดเอง โดยใช้เรื่องการจัดเก็บรายได้เข้ามาเป็นตัวตั้งและตั้งฐานภาษีให้สูงเกินกว่าจำเป็น ผู้ประกอบการ ย่อมหาทางผลักภาระไปยังผู้บริโภค สุดท้ายประชาชนก็เป็นผู้รับภาระภาษีและสินค้าและบริการที่จะมีราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอน อีกทั้งยังกระทบกับภาคธุรกิจในการบริหารโมเดลธุรกิจของตัวเองและการตั้งราคาสินค้าในกลุ่ม ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสินค้าหลากหลายเซกเม้นท์และมีการทำราคาให้อยู่ในจุดที่แข่งขันได้"
นางมัลลิกากล่าวสรุปท้ายว่า วิธีการกำหนดราคาขายปลีกควรจะเป็นไปอย่างเรียบง่าย และ ตรงไปตรงมา ลดการใช้ดุลพินิจ ในขณะที่ร่างกฎหมายที่เข้า สนช. ดังกล่าวนี้ ดูสวนทางกับเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ที่ต้องการบูรณาการให้กฎหมายภาษีสรรพสามิตมีความโปร่งใส เรียบง่าย เป็นสากล ลดข้อถกเถียงกับภาคเอกชนในเรื่องราคาต้นทุนที่แจ้ง ภาคธุรกิจจึงอยากขอให้ สนช. มีการพิจารณาแก้ไขนำเงื่อนไขเรื่องการกำหนดราคาขายปลีกแนะนำออก โดยให้ใช้หลักการตรวจสอบย้อนหลัง (post audit) ในกรณีหากมีข้อสงสัยอันเป็นหลักปฏิบัติที่ยอมรับกันได้แทน แต่หากพระราชบัญญัตินี้ถูกประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยขาดความเป็นธรรมและไม่ได้ถูกพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจสินค้าที่เสียภาษีสรรพสามิตจำนวนมากไม่น้อยกว่า 20 ประเภท จะต้องได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวอย่างแน่นอน และอาจนำไปสู่ผลกระกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจระดับประเทศอีกด้วย