กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
สนุกดอทคอม (Sanook.com) เว็บไซต์ให้บริการข้อมูลข่าวสารและสาระบันเทิงชั้นนำของประเทศไทย ร่วมกับสภากาชาดไทย และพันธมิตรใจบุญ ประกอบด้วย JOOX, Woody World, Kaidee, Yoga&Me, SkillLane, Ookbee, Ookbee Comics, Ookbee Buffet, C Channel, Tunwalai, Fastwork, Dtac และ Atime Online สร้างกระแสการร่วมบริจาคเลือดผ่านออนไลน์กับแคมเปญ GIVE BLOOD, GIVE LIFE ซึ่งได้ไอเดียมาจากแคมเปญ MISSING TYPE ที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษและเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก
Missing Type เป็นการแสดงออกสัญลักษณ์การรณรงค์ด้วยการปลดตัวอักษร A, B, O ที่หมายถึงกรุ๊ปเลือดต่างๆ ออกจากโลโก้ของแต่ละบริษัท เพื่อกระตุ้นให้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์จากบริจาคเลือดที่สามารถช่วยเหลือชีวิตผู้อื่นได้อีกมากมาย
สำหรับผู้สนใจสามารถลงทะเบียนร่วมบริจาคเลือดเพื่อรับของที่ระลึกจากสภากาชาดไทยได้ที่ http://sanook.com/missingtypeth รับได้ในงานวันที่ 30 ตุลาคม 2559 ตั้งแต่ 8:30 – 15:00 น. ณ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนัง หรือใครต้องการช่วยรณรงค์แคมเปญนี้สามารถโพสต์รูปหรือข้อความที่ตัวอักษร A, B, O หายไปพร้อมใส่ #MISSINGTYPETH
ข้อมูลจากศูนย์บริการโลหิตสภากาชาดไทย ระบุมีผู้บริจาคเลือดเป็นครั้งแรกในปี 2559 ลดลงจากปี 2558 มากถึง 27% และผู้ที่กลับมาบริจาคซ้ำยังมีจำนวนน้อยเช่นกัน จึงทำให้ในปี 2559 นี้ สภากาชาดไทยมีเลือดเก็บในคลังเป็นจำนวนน้อยลงมาก (ที่มาhttp://blooddonationthai.com) โดยมีความต้องการเลือดในแต่ละวันสูงถึง 5,000 ยูนิตต่อวัน เพื่อทำการส่งต่อให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ และเก็บสำรองไว้เป็นคลังเลือดสำหรับกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น
7 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริจาคเลือด
1. ปัจจุบันมีความต้องการใช้เลือดวันละ 5,000 ยูนิต แต่สภากาชาดได้รับบริจาคเพียงวันละ 2,000 ยูนิตเท่านั้น ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจะไม่มีเลือดมากพอใช้ได้
2. มีศูนย์บริการโลหิตสภากาชาดอยู่ 12 จังหวัดทั่วประเทศ และออกรับบริจาคตามตึกสำนักงานใหญ่อยู่ตลอด เพราะฉะนั้นเรื่องเดินทางไม่ใช่ปัญหา
3. คนไทยที่บริจาคเลือดมีเพียง 3% จากประชากรทั้งประเทศ 68 ล้านคน
4. แต่ละวันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องการใช้เลือด โดยผู้ป่วยที่ต้องใช้เลือดมากที่สุด อันดับ 1 คือผู้ป่วยผ่าตัดและอุบัติเหตุ 77% อันดับ 2 คือผู้ป่วยโรคเลือด 23% ผู้ป่วยบางรายต้องเปลี่ยนถ่ายเลือดทุกสัปดาห์
5. กรุ๊ปเลือดที่ขาดแคลนของคนไทยคือกรุ๊ป AB รองลงมาคือ A B O (ตามลำดับ)
6. บริจาคเลือด 1 ครั้งสามารถช่วยชีวิตคนได้ 3-4 คน โดยเลือดหนึ่งยูนิตสามารถแยกเป็นเกร็ดเลือด พลาสมา และเม็ดโลหิตแดง
7. เราสามารถบริจาคเลือดได้ปีละ 4 ครั้ง หากนับรวมตลอดชีวิตที่สามารถบริจาคได้จะมากถึง 212 ครั้ง
บริจาคเลือดยังดีต่อร่างกายด้วย
1. กระตุ้นการทำงานของไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดใหม่ๆ ที่มีคุณภาพหมุนเวียนทดแทน
2. เม็ดเลือดเก่าที่ออกไป ทำให้ร่างกายแข็งแรง และมีการไหลเวียนของเลือดที่ดีขึ้น ส่งผลให้มีผิวพรรณสดใสเปล่งปลั่ง
3. ทำให้เราได้รับการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำสม่ำเสมอทุก 3 เดือน
4. เราได้รู้หมู่เลือดของตัวเอง ระบบ A B O และระบบ Rh
5. มีความสุข และความภาคภูมิใจ ที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วย