กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--กทม.
นายชนินทร์ รุ่งแสง ส.ก. เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญเศรษฐกิจการคลัง สภากทม. เปิดเผยว่า วันนี้ (16 ต.ค. 44) ทางคณะกรรมการฯได้เชิญสำนักพัฒนาชุมชน กทม.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการชุมชนระดับจังหวัดของ กทม. มารายงานความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งกรุงเทพมหานครได้กำหนดให้มีชุมชนนำร่องเขตละ 2 ชุมชน รวม 100 ชุมชน และขณะนี้ได้มีการดำเนินการคัดเลือกชุมชนนำร่องแล้ว จำนวน 45 เขต รวม 84 ชุมชน ในจำนวนนี้มี 6 เขตที่ยังจัดตั้งได้เพียงชุมชนเดียว คือ เขตพญาไท วังทองหลาง ทวีวัฒนา บางซื่อ ธนบุรี และบางเขน ส่วนอีก 5 เขต คือ เขตปทุมวัน พระนคร ป้อมปราบฯ สัมพันธวงศ์ และสาทร ยังไม่สามารถเลือกชุมชนนำร่องได้เนื่องจากไม่มีการรวมตัวของประชาชนในพื้นที่ เพราะสภาพแวดล้อมส่วนใหญ่เป็นตึกแถวทำให้ยากต่อการรวมตัว จึงเป็นปัญหาหนึ่งที่คณะกรรมการฯและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องเข้าไปตรวจสอบสภาพพื้นที่ที่แท้จริงเพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป
นายชนินทร์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ดี ทางคณะกรรมการฯได้เร่งรัดให้สำนักพัฒนาชุมชนเข้าไปดำเนินการในเรื่องการแบ่งสัดส่วนของชุมชนแต่ละชุมชน ซึ่งตามหลักเกณฑ์ได้กำหนดให้หมู่บ้านที่จะจัดตั้งเป็นชุมชนต้องมีบ้านไม่น้อยกว่า 100 หลังคาเรือน แต่ปัจจุบันการจัดตั้งชุมชนใน กทม. ยังมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ บางชุมชนมีการรวมตัวกัน 100 หลังคาเรือนตามที่หลักเกณฑ์กำหนด บางชุมชนรวมตัวกัน 500 หลังคาเรือน หรือ 1,000 หลังคาเรือน ทำให้เม็ดเงินที่จะนำไปสนับสนุนมีความเหลื่อมล้ำกัน อีกประการหนึ่งที่ทางคณะกรรมการฯได้ตั้งข้อสังเกต คือ วัตถุประสงค์ของการใช้เงิน ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการใช้เงินกองทุนจะมุ่งในเรื่องของการกู้ยืมอย่างเดี่ยว ซึ่งจริงๆแล้ววัตถุประสงค์ของการใช้เงินนั้น คือ ใช้ในการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน จึงได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาชุมชนนำไปพิจารณาทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้คณะกรรมการฯยังกำชับให้สำนักพัฒนาชุมชนเข้าไปดูแลการดำเนินการของแต่ละชุมชนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนต่างๆในการยกร่างระเบียบการขอใช้เงินเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ทางรัฐบาลกำหนด--จบ--
-นห-