กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--ธนาคารทหารไทย
ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 3 และงวด 9 เดือน ปี 2559 โดยธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานหลักก่อนสำรองฯ ในไตรมาส 3 จำนวน 4,811 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสที่แล้ว และ 13,833 ล้านบาทในงวด 9 เดือน เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว โดยธนาคารตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 2,541 ล้านบาทในไตรมาส 3 และจำนวน 6,416 ล้านบาทในงวด 9 เดือน การตั้งสำรองระดับค่อนข้างสูงในไตรมาส 3 นี้ เพื่อให้ธนาคารตัดหนี้สูญ (write off) ทำให้สัดส่วน NPL ของธนาคารลดลงเป็น 2.5% และมีสัดส่วนสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ในระดับสูงที่ 142%
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีเอ็มบี กล่าวว่า "ในไตรมาส 3 นี้ สินเชื่อคงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ลดลงแม้ว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงเติบโตต่อเนื่อง ทั้งนี้ สินเชื่อเติบโต 2% ในงวด 9 เดือน ในขณะที่เงินฝากลดลง 5% จากไตรมาสที่แล้ว และลดลง 6% ในงวด 9 เดือน โดยหลักมาจากการบริหารสัดส่วนของเงินฝากให้สอดคล้องกับการเติบโตของสินเชื่อ โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ 97% ทั้งนี้ สัดส่วนเงินฝากธุรกรรมทางการเงิน (Transactional deposit) เพิ่มขึ้นจาก 36% เป็น 38% เป็นผลจากการที่ธนาคารให้ความสำคัญต่อการส่งมอบผลิตภัณท์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ทั้งนี้ ธนาคารยังมีแผนต่อเนื่องที่จะนำเสนอดิจิทัล แบงก์กิ้ง ที่จะช่วยให้ลูกค้าใช้ชีวิตได้เต็มที่ โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ธนาคารได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้า บัญชี ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี บัญชีเดียวที่ดีที่สุดในประเทศ ด้วยการให้โอนและจ่ายบิลฟรีไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยเงินฝาก ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี ยังเติบโตได้ดี ซึ่งเพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสที่แล้ว"
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 1.5% ซึ่งมาจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ที่ดีขึ้นเป็น 3.24% และสำหรับงวด 9 เดือน รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 7% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมการขายกองทุนรวมเป็นหลัก รวมถึงการปรับตัวดีขึ้นของรายได้จากตลาดทุนและธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนในงวด 9 เดือนนั้น รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลง เพราะถึงแม้ว่าค่าธรรมเนียมจากลูกค้าบุคคลยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์แบงก์แอสชัวรันส์ แต่ธนาคารมีค่าธรรมเนียมสินเชื่อลดลง ทั้งนี้ รายได้รวมของธนาคารมีจำนวน 8,965 ล้านบาทในไตรมาส 3 ซึ่งเพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสที่แล้ว และจำนวน 25,888 ล้านบาทในงวด 9 เดือน ซึ่งเพิ่มขึ้น 5% จากงวดเดียวกันปีที่แล้วเช่นกัน
ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานทั้งหมดมีจำนวน 4,124 ล้านบาทในไตรมาส 3 ซึ่งเพิ่มเพียง 2% จากไตรมาสที่แล้วและจำนวน 12,074 ล้านบาทในงวด 9 เดือน ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 1.5% จากงวดเดียวกันปีที่แล้ว เมื่อรวมกับการขยายตัวของรายได้ ทำให้ธนาคารยังสามารถขยายกำไรจากการดำเนินงานหลักได้ โดยในไตรมาส 3 ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานหลักก่อนสำรองฯ จำนวน 4,811 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสที่ 2 และ 13,833 ล้านบาทในงวด 9 เดือน ซึ่งเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว
ธนาคารยังดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ (Prudence) โดยในไตรมาสนี้ ธนาคารตัดสินใจตั้งสำรองเพิ่มให้ครบ 100% ของ NPL ที่จะตัดบัญชีหนี้สูญ (write off) เพิ่มเติมจากปกติ ทำให้ธนาคารมี NPL ลดลงจากไตรมาสที่แล้วเป็น 17,466 ล้านบาท และสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อลดลงมาอยู่ที่ 2.5% อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ทำให้การตั้งสำรองฯ อยู่ที่ระดับค่อนข้างสูงเป็นจำนวน 2,541 ล้านบาทในไตรมาส 3 และเป็นจำนวน 6,416 ล้านบาทในงวด 9 เดือน เพื่อให้ธนาคารยังคงสัดส่วนสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ที่แข็งแกร่งที่ 142% เป็นผลให้ ธนาคารมีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 จำนวน 1,845 ล้านบาท ลดลง 14% จากไตรมาสที่แล้ว และ 6,088 ล้านบาทในงวด 9 เดือน ซึ่งลดลง 9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน
นอกจากนี้ ธนาคารยังคงดำรงสถานะเงินกองทุนในระดับแข็งแกร่งภายใต้เกณฑ์ Basel III โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) เพิ่มขึ้นเป็น 18.38% และกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) เพิ่มขึ้นเป็น 12.92% ณ เดือนกันยายน ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งกำหนดไว้ที่ 9.125% และ 6.625% ตามลำดับ