ไทยพร้อมจัด World Congress 2002 ประชุมใหญ่หมอทั่วโลกกว่าหมื่นห้าพันคนชูความสำคัญโรคทางเดินอาหาร

ข่าวทั่วไป Thursday March 1, 2001 09:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--พีอาร์ เน็ทเวิร์ค
นับเป็นความภาคภูมิใจครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของคนไทย ที่จะได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน World Congress of Gastroenterology 2002 ครั้งที่ 12 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติกรุงเทพ (ไบเทค) ในช่วงระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2545 ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการการแพทย์เกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหาร จัดโดยองค์กรการแพทย์เกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารโลก หรือ The World Organization of Gastroenterology ซึ่งคาดว่าจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาโรคทางเดินอาหาร แพทย์ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง พยาบาล และผู้ร่วมจัดนิทรรศการ อื่น ๆ อาทิ บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายยาเข้าร่วมประชุมไม่ต่ำกว่า 12,000 - 15,000 คน
องค์กรการแพทย์เกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารโลก (The World Organization of Gastroenterology) หรือ The Organization Mondiale de Gastro-Enterologie (OMGE) ชื่อภาษาฝรั่งเศสซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในวงการแพทย์ มีการรวมกลุ่มกันครั้งแรกเมื่อปี 1954 ณ เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศสโดย Dr. Henry L. Bockus และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านโรคระบบทางเดินอาหาร ต่อมาในปี 1958 ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นสมาคมเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารระดับชาติ โดย Dr. Henry L. Bockus เป็นประธานสมาคมคนแรก
OMGE จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาและพัฒนาวิธีการรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ตลอดจนสนับสนุนงานวิจัยและการศึกษาเฉพาะทางในสาขาวิชาระบบทางเดินอาหาร โดยมีสมาชิกซึ่งเป็นสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารจากประเทศต่าง ๆ จำนวนถึง 88 ประเทศทั่วโลก ในทุก 4 ปี องค์กรจะจัดให้มีการประชุมแลกเปลี่ยนทางวิชาการการแพทย์ที่เกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหาร เรียกว่า World Congress of Gastroenterology (WCOG) โดยเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาการการแพทย์ใหม่ ๆ ตลอดจนนำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหาร โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหาร แพทย์ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมในแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 12,000 - 15,000 คน
Professor Meinhard Classen ประธาน OMGE คนปัจจุบันเปิดเผยว่า เป็นที่น่ายินดีที่การประชุม World Congress of Gastroenterology ครั้งที่ 11 ที่ผ่านมา ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย มีผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นจำนวนถึง 13,500 คน และสำหรับการเตรียมการการประชุมครั้งต่อไปในปี 2002 ทาง OMGE และเจ้าภาพจัดงานได้มีการเตรียมการประชุมทั้งในด้านของการแลกเปลี่ยนเชิงวิทยาศาสตร์การแพทย์ และการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาเหมือนกับการประชุมครั้งที่ผ่านมา แต่ในการประชุมครั้งนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังการเริ่มต้นสหัสวรรษใหม่ ดังนั้นเราจะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการนำเสนอ และใช้ประกอบการประชุมด้วย นอกจากนี้ The World Organization of Endoscopy (OMED) และ The International Council of Surgical Gastroenterology (ICSG) ได้มีส่วนร่วมในการเตรียมการการประชุมครั้งต่อไป ICSG เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรนานาชาติ 7 องค์กร และมีศัลยแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหารเป็นสมาชิกประมาณ 10,000 คนทั่วโลก ในการนี้ เราจะได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และการพัฒนาเกี่ยวกับวิทยาการการแพทย์ของโรคระบบทางเดินอาหารใหม่ ๆ ในระดับโลกด้วย
ศ.นพ.เติมชัย ไชยนุวัติ จากภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาโรคระบบทางเดินอาหาร คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ประธานการจัดประชุม World Congress 2002 เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การจัดประชุมครั้งนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของประเทศไทยที่ได้ก้าวข้ามไปสู่ระดับนานาชาติ เนื่องจากเป็นการจัดประชุม World Congress ครั้งแรกในทวีปเอเซีย จากเดิมที่การประชุมมักจะจัดขึ้นที่ประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาเท่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ประเทศเราจะมีการจัดประชุมที่มีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมากซึ่งทางคณะกรรมการฯ คาดว่าน่าอยู่ในระดับ 12,000 - 15,000 คน และที่สำคัญผู้เข้าร่วมประชุมยังเป็นแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านระบบทางเดินอาหาร และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ ที่เดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนวิชาการทางการแพทย์ โดยการประชุมนี้เราจะจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมนานาชาติกรุงเทพ (ไบเทค) ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2545 อนึ่ง การจัดประชุมทางวิชาการครั้งนี้ยังนับได้ว่าเป็นการจัดประชุมทางวิชาการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยได้เคยจัดมาอีกด้วย
"การประชุมครั้งนี้ ทางคณะกรรมการฯ ได้เตรียมความพร้อมในการจัดงาน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจราจร ที่เราได้มีการพูดคุยกับสำนักงานจราจรทางบก (สจร.) และท่านสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับแผนการขยายโครงการรถไฟฟ้ามหานครเส้นสุขุมวิท โดยเราเสนอให้ทำทางลงตรงแยกบางนา และทางเดินเชื่อมกับทางเข้าของไบเทค เพื่อความสามารถในการเดินทางไปเข้าร่วมประชุม สำหรับการเตรียมพร้อมเรื่องที่พัก เราก็ได้ทำสัญญาจองที่พักกับทางโรงแรมในเส้นถนนสีลม และถนนสุขุมวิท จำนวน 9,000 ห้อง เพื่อรองรับผู้เข้าร่วมประชุม และในขณะนี้ มีผู้ตอบรับการเข้าร่วมประชุมมาแล้วจำนวนประมาณ 2,500 - 3,000 ห้อง จากการจัดประชุมครั้งนี้ ทางคณะทำงานฯ คาดว่า จะนำรายได้เข้าสู่ประเทศในช่วงระหว่างนี้ประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าสนใจมากทีเดียว สำหรับประโยชน์อื่นที่นอกเหนือไปจากการแลกเปลี่ยนวิชาการทางการแพทย์แล้ว ประเทศเรายังได้มีโอกาสเผยแพร่วัฒนธรรมอันดีงาม รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่งในประเทศเรา ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ยังไม่เคยเดินทางมา ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้อีกด้วย" นพ.เติมชัยกล่าวถึงรายละเอียดในการจัดงานเพิ่มเติม
ศ.นพ.เติมชัยเปิดเผยเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ทาง OMGE ยังได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะจัดตั้งศูนย์อบรมแพทย์ทางด้านระบบทางเดินอาหารสำหรับภาคพื้นเอเซียแปซิฟิคในประเทศไทย (Post-graduate School of Endoscopy Training) ซึ่งเป็นศูนย์อบรมการแพทย์ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร และเป็นหลักสูตรสำหรับ Post Graduate เพื่อพัฒนาศักยภาพและความสามารถทางวิทยาการการแพทย์ของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นศูนย์อบรมแพทย์ทางด้านส่องกล้องแห่งแรกในเอเซีย"ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ ยังได้วางเป้าหมายในการที่จะสนับสนุนด้านงบประมาณให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพม่า เวียดนาม กัมพูชา และลาว ให้สามารถเข้าร่วมการประชุมระดับโลกครั้งนี้ เพื่อช่วยให้เขาได้มีโอกาสในการร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาการการแพทย์ในระดับโลก" นพ.เติมชัยกล่าวเพิ่มเติม
นพ.กำธร เผ่าสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิชัยยุทธ, เลขาธิการการจัดการประชุม WCOG 2002 และ รศ.นพ.อุดม คชินทร รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ประธานฝ่าย Press and Media ร่วมกันแถลงถึงความสำคัญของโรคระบบทางเดินอาหารว่า โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารนับว่าเป็นโรคหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างหลักของร่างกายมนุษย์ โรคระบบทางเดินอาหารนับว่าเป็นโรคที่พบบ่อยมากในประเทศของเรา และประเทศใกล้เคียง โรคระบบทางเดินอาหารเป็นโรคที่มีอัตราการเป็นโรคอยู่ในอันดับสองของประเภทผู้ป่วยนอก จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบ มีผู้ป่วยกว่า 10 ล้านคนต่อปี ตัวอย่างโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารที่เราพบบ่อยๆ เช่น โรคท้องเสีย ซึ่งเป็นเรื่องของสุขลักษณะในการทานอาหาร การปรุงอาหาร สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยค่อนข้างร้อนมาก รวมถึงโรคกระเพาะอาหาร ทั้งมีแผล และไม่มีแผล โรคตับอักเสบจากไวรัส โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้และมะเร็งตับ ซึ่งพบบ่อยมากในแถบบ้านเรา"ถ้าเปรียบเทียบความก้าวหน้าทางการแพทย์ในส่วนของแพทย์ระบบทางเดินอาหารระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเซียแปซิฟิคแล้ว เรายังจัดว่าอยู่ในอันดับที่ 5-6 อันดับที่หนึ่ง ต้องยกให้ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความก้าวหน้าทางวิทยาการการแพทย์มาก อันดับที่สองก็คงเป็นฮ่องกง เกาหลี สิงคโปร์ ตามลำดับ ส่วนจีนเพิ่งเปิดประเทศ เราไม่สามารถเปรียบเทียบความก้าวหน้ากับเขาได้ชัดเจนนัก ส่วนประเทศไทยคงจะอยู่ในอันดับที่ 5 หรือ 6 แต่ถ้าเปรียบเทียบเฉพาะในแถบเอเซียน 10 ประเทศนี้ ผมว่าเราเป็นเบอร์ 1 ความสามารถทางการแพทย์เราน่าจะเทียบเท่ากับสิงคโปร์ หรือเหนือกว่า แพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารของเขามีประมาณ 40-50 คนเท่านั้น แต่ของเราถ้านับเฉพาะที่มีเป็นแพทย์เฉพาะทาง และได้รับการฝึกอบรมมาอย่างเต็มที่ จะมีประมาณ 150 คน แต่ถ้ารวมแพทย์ในสาขาอื่น เช่น อายุรแพทย์ และศัลยแพทย์ ซึ่งมีความสนใจในการศึกษาโรคทางด้านนี้ จะมีประมาณ 700 คนทั้งประเทศ" นพ.กำธร กล่าว
รศ.นพ.อุดมเปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า ในด้านการแพทย์เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่เรามีความเชี่ยวชาญมากกว่าประเทศในกลุ่มยุโรปและอเมริกา จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย และแถบเขตร้อน (Tropical Diseases) อาทิ โรคติดเชื้อ ซึ่งในแถบประเทศกลุ่มยุโรปและอเมริกามีน้อย โรคท้องเสีย เรามีตัวอย่าง มีกรณีศึกษาโรคทางด้านนี้มาก โรคมะเร็งในตับ โรคมาเลเรีย ที่มีผลต่อตับ และสามารถทำให้เป็นดีซ่านได้ โรคไข้เลือดออกที่มีผลกระทบต่อตับมาก เพียงแต่ว่าเราติดปัญหาเรื่องของงบประมาณในการทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องโรคระบบทางเดินอาหารอย่างจริงจัง"สำหรับ Theme ของการประชุม World Congress ครั้งนี้คือ Congress for the World จะมีประมาณ 5-6 เรื่องที่เราตั้งประเด็นขึ้นมา ซึ่งต้องเป็นเรื่องที่เกิดผลกระทบกับคนทั้งโลก เรื่องหนึ่งที่เราจะยกขึ้นมาก็คือเรื่องโรคท้องเสีย ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ก็ตาม นอกจากนี้บ้านเราเป็นแหล่งระบาดของโรคติดเชื้อ โรคลำไส้อักเสบแล้วก็ติดเชื้อ ก็เลยมีโรคท้องเสียเยอะ ถ้าได้รับการรักษาไม่ดี อาจตายได้ ตรงจุดนี้ประเทศไทยเป็นประธานการดำเนินการประชุมเรื่องโรคท้องเสีย ซึ่งทาง WCOG ก็ได้ให้งบประมาณสนับสนุนการดำเนินการ ทั้งนี้เราได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาจากทั่วโลก และคาดว่าจะจัดทำ Consensus เป็น Bangkok Guideline ขึ้นมา เป็น Guideline ที่แสดงถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการดูแลคนไข้ และการปฏิบัติต่อคนไข้ที่เป็นโรคนี้ โดยแต่ละฉบับจะเหมาะสมกับโรคท้องเสียในแต่ละประเทศ" รศ.นพ.อุดมกล่าวเพิ่มเติมตัวอย่างหัวข้อการประชุม ประกอบด้วย การประชุมเพื่ออภิปรายแต่ละประเด็นปัญหา อาทิ The global impact of H. pylori related diseases, Current Management of inflammatory bowel diseases, Colon cancer: from molecular basis to clinical management, Update on gut neurotransmitters การประชุมความคืบหน้าทุก 4 ปี อาทิ Quality of life - Measurement in G.I. diseases : what does it mean? โดย H. Glise- USA, Critical review of new imaging modalities in G.I. โดย N. Marcon- Canada, Transporter defect in Liver Disease โดย P.Ferenci - Austria การนำเสนอรายงานการวิจัยโดยกลุ่ม เช่น Foregut Dysmotility: towards a new definition? โดย D. Wingate - UK, Hepatocellular carcinoma - classification, surveillance, and management โดย M. Omata - Japan เป็นต้น และ Post Graduate Courses อาทิ Endoscopic Post Graduate Course, Asian Pacific Digestive Disease Week Gastroenterology Post Graduate Course, Surgery Post Graduate Course
สำหรับการประชุม World Congress of Gastroenterology 2002 เป็นอีกก้าวหนึ่งของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งนอกเหนือไปจากโอกาสในการพัฒนาความรู้และวิชาการการแพทย์ด้านโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางในแถบเอเซียแปซิฟิคในการรวบรวมองค์ความรู้ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อคนในประเทศ และคนในเขตภาคพื้นเอเซียแปซิฟิคอีกด้วย ยังผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งประเทศจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวจากต่างชาติทั้งที่เคยมาเที่ยวยังประเทศไทยและยังไม่เคย ตลอดจนประโยชน์ในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
บจก. พีอาร์ เน็ทเวิร์ค (PR NETWORK)
เกษราภรณ์ อึ่งสกุล (01) 344-9149,
นัดดา ขัตวงษ์
โทร/ โทรสาร 611-7611 /611 -6351
(01) 313-6777, (01) 341-0488--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ