กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีความร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" ในการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการทั่วประเทศในด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมนั้น โดยในครั้งนี้ ได้ร่วมกับนิด้าโพล จัดทำโพลเรื่อง "ทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2559" โดยอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากตัวแทนผู้บริหารระดับสูงในภาคอุตสาหกรรมส่งออกต่างๆ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ได้เน้นการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการต่อการขยายตัวการส่งออกของไทย รวมถึงปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกของไทย ปัจจัยเสี่ยง อีกทั้งปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของการส่งออก ข้อเสนอแนะของผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมครึ่งหลังของปี 2559 เป็นต้น" นายเจน กล่าว
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นจากตัวแทนผู้บริหารระดับสูงในภาคอุตสาหกรรมส่งออกต่าง ๆ กระจายทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 80 ราย เกี่ยวกับทิศทางการส่งออกของไทยปี 2559 โดยทำการสำรวจ ระหว่างวันที่ 26 กันยายน – 12 ตุลาคม 2559 อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการส่งออกของไทย ที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) ตามภูมิภาค เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ และการส่งแบบสอบถามทางออนไลน์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 5.6 ซึ่งสามารถสรุปผลการสำรวจได้ ดังนี้
ความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อการขยายตัวการส่งออกของไทยในปี 2559 พบว่า ผู้ประกอบการ ร้อยละ 17.50 ระบุว่า การส่งออกของไทยในปี 2559 จะขยายตัว ขณะที่ ร้อยละ 53.75 ระบุว่า จะทรงตัว และร้อยละ 28.75 ระบุว่า หดตัว โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่าการส่งออกของไทยในปี 2559 จะขยายตัวนั้น ร้อยละ 7.14 ระบุว่า จะขยายตัว 1 – 2 % และ จะขยายตัว 3 – 4 % ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 21.43 ระบุว่า จะขยายตัว 5 – 6 % ร้อยละ 14.29 ระบุว่า จะขยายตัว 7 – 8 % ร้อยละ 28.57 ระบุว่า จะขยายตัว 9 – 10 % และร้อยละ 21.43 ระบุว่า จะขยายตัวมากกว่า 10 % ขึ้นไป ส่วนในจำนวนผู้ที่ระบุว่าการส่งออกของไทยในปี 2559 จะหดตัวนั้น ร้อยละ 4.35 ระบุว่า จะหดตัว 1 – 2 % ร้อยละ 8.70 ระบุว่า จะหดตัว 3 – 4 % ร้อยละ 17.39 ระบุว่า จะหดตัว 5 – 6 % ร้อยละ 21.74 ระบุว่า จะหดตัว 9 – 10 % ร้อยละ 39.13 ระบุว่า จะหดตัว มากกว่า 10 % ขึ้นไป และร้อยละ 8.70 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกของไทยในปี 2559 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.75 ระบุว่า เป็นภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ รองลงมา ร้อยละ 31.25 ระบุว่า นโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้มีการส่งออกสินค้าที่ใช้นวัตกรรมมากยิ่งขึ้น ร้อยละ 25.00 ระบุว่า การผลักดันการส่งออกผ่านช่องทางการค้าชายแดนและผ่านแดน ร้อยละ 11.25 ระบุว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มมีทิศทางการปรับตัวที่ดีขึ้นบ้าง ร้อยละ 10.00 ระบุอื่นๆ ได้แก่ อัตราภาษีการส่งออก, การเมืองภายในประเทศ, การขยายตลาดของกลุ่มเป้าหมาย, อัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินระหว่างประเทศ,
มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดการส่งออก และการปรับตัวของผู้ประกอบการ และร้อยละ 5.00 ระบุว่า ไม่มีปัจจัยสนับสนุนใด ๆ
สำหรับความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคการส่งออก พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.75 ระบุว่า เป็นภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่แข็งแกร่ง รองลงมา ร้อยละ 45.00 ระบุว่า เป็นความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน (การแข็งค่าของเงินบาท) ร้อยละ 23.75 ระบุว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ส่งออก เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้าที่กำหนดว่า สินค้าส่งออกจากประเทศไทยต้องมีหนังสือยืนยันการป้องกันหรือกำจัดยุงที่อาจติดไปกับตู้สินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสซิก้าและโรคเมอร์ส ร้อยละ 17.50 ระบุว่า ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังมีแนวโน้มการฟื้นตัวไม่ชัดเจน ร้อยละ 15.00 ระบุว่า เป็นการชะลอการนำเข้าของจีน ร้อยละ 6.25 ระบุว่า เป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เป็นต้น และ ระบุว่า ผลประชามติของสหราชอาณาจักรที่ให้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 5.00 ระบุว่า ความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2559 ร้อยละ 16.25 ระบุอื่นๆ ได้แก่ ต้นทุนค่าแรง และค่าวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น, การเมืองภายในประเทศ และนโยบายการสนับสนุนการส่งออกจากภาครัฐ, กฎหมายการกีดกันทางการค้า, และการแข่งขันของคู่ค้า และร้อยละ 2.50 ระบุว่า ไม่มีความกังวลใด ๆ เกี่ยวกับการส่งออก
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศต่างๆ ที่ยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 31.25 ระบุว่า เป็นประเทศจีน รองลงมา ร้อยละ 30.00 ระบุว่า เป็นการค้าชายแดน (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมาร์, มาเลเซีย) ร้อยละ 27.50 ระบุว่า เป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 18.75 ระบุว่า เป็นประเทศญี่ปุ่น และ ระบุว่า เป็นการค้าผ่านแดน (สิงคโปร์, จีนตอนใต้, และเวียดนาม) ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 16.25 ระบุว่า เป็นเอเชียใต้ ร้อยละ 15.00 ระบุว่า เป็นสหภาพยุโรป ร้อยละ 8.75 ระบุว่า เป็นทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 3.75 ระบุว่า เป็น BRICS (รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้) ร้อยละ 1.25 ระบุว่า เป็นแอฟริกาใต้ และร้อยละ 2.50 ระบุว่า ไม่มีประเทศใดเลย
อีกทั้งแนวทางการรับมือจากการที่ค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.75 ระบุว่า มีแนวทางในการรับมือ ขณะที่ ร้อยละ 26.25 ระบุว่า ไม่มีแนวทางในการรับมือ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่า มีแนวทางในการรับมือนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.15 ระบุว่า เป็นการวางแผนประมาณการ การสั่งซื้อ การผลิต การจำหน่ายล่วงหน้า รองลงมา ร้อยละ 38.98 ระบุว่า เป็นการทำ Forward อัตราแลกเปลี่ยน ร้อยละ 23.73 ระบุว่า เป็นการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อกำหนดทิศทางราคาสินค้า ร้อยละ 18.64 ระบุว่า เป็นการติดตามความเคลื่อนไหวโดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยน ร้อยละ 15.25ระบุว่า เป็นการย้ายแหล่งการนำเข้าวัตถุดิบ ร้อยละ 10.17 ระบุว่า เป็นการศึกษาตลาด และติดตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ร้อยละ 8.47 ระบุว่า เป็นการเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขาย ร้อยละ 5.08 ระบุว่า เป็นการให้ความสำคัญกับธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ร้อยละ 3.39 ระบุว่า เป็นการรักษาขนาดของการประกอบอุตสาหกรรม ร้อยละ 8.47 ระบุ อื่นๆ ได้แก่ ลดต้นทุนการผลิต ทั้งในเรื่องของค่าแรงและวัตถุดิบ ลดค่าใช้จ่ายด้วยการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน, และเจรจาการซื้อขายในราคาที่เหมาะสม
สำหรับความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อค่าเงินบาทที่เอื้ออำนวยต่อภาคการส่งออก พบว่า ผู้ประกอบการ ร้อยละ 2.50 ระบุว่า ควรน้อยกว่า 32 บาทต่อดอลลาร์ฯ ร้อยละ 12.50 ระบุว่า ระหว่าง 32 – 33 บาทต่อดอลลาร์ฯ ร้อยละ 10.00 ระบุว่า ระหว่าง 33 – 34 บาทต่อดอลลาร์ฯ ร้อยละ 37.50 ระบุว่า ระหว่าง 34 – 35 บาทต่อดอลลาร์ฯ และ ร้อยละ 37.50 ระบุว่า ควรมากกว่า 35 บาทต่อดอลลาร์ฯ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกในธุรกิจ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.50 ระบุว่า เป็นต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมา ร้อยละ 47.50 ระบุว่าเป็นต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นร้อยละ 32.50 ระบุว่าเป็นสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่มีคุณภาพและการออกแบบที่ดีกว่า ร้อยละ 30.00 ระบุว่าเป็นการขยายตลาดใหม่ๆ ยังทำได้ไม่มาก ร้อยละ 6.25 ระบุอื่นๆ ได้แก่ อัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินระหว่างประเทศ, ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ, สินค้าจากประเทศคู่แข่งที่มีราคาถูกกว่า, การบริหารจัดการและการเพิ่มผลผลิต และร้อยละ 1.25 ระบุว่าไม่มีปัจจัยใดที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันการส่งออก
สำหรับความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการอย่างไรเพื่อเป็นการผลักดันภาคการส่งออกไทย พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.85 ระบุว่า ควรเร่งเจรจาการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อขยายตลาด ลดอุปสรรคทางการค้าและมาตรการกีดกันสินค้าที่มิใช่ภาษี รองลงมา ร้อยละ 28.21 ระบุว่า ควรสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหญ่ในการให้ความรู้และคำแนะนำในการขยายตลาดต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการ SMEs ร้อยละ 26.92 ระบุว่า ควรส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างช่องทางในการเจรจาการค้าและขยายธุรกิจ ร้อยละ 23.08 ระบุว่า ควรจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเชิงลึกด้านการค้าการลงทุน เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ร้อยละ 17.95 ระบุว่า ควรสนับสนุนการขยายตลาดเข้าสู่หัวเมืองรองในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อขยายฐานลูกค้าและกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคให้มากขึ้น ร้อยละ 12.82 ระบุว่า ควรเร่งกระตุ้นและพัฒนาการค้าชายแดน และร้อยละ 19.23 ระบุ อื่น ๆ ได้แก่ การตรึงราคาสินค้า, แก้ไขสภาพคล่องทางการเงินและเศรษฐกิจภายในประเทศ, พัฒนาฝีมือแรงงาน และค่าแรงขั้นต่ำให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้, รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท, เจรจาการกีดกัน ทางการค้าเพื่อการส่งออก, และจัดตั้งสำนักงานการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV
เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะของผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมครึ่งหลังของปี 2559 สามารถสรุปได้ ดังนี้
1. รัฐบาลควรส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งและคมนาคม อำนวยความสะดวกในการค้า การลงทุนได้อย่างมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ และพัฒนาศักยภาพการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวตามแนวชายแดน
2. ควรรักษาเสถียรภาพอัตราการแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาท
3. ควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการค้า การลงทุน การส่งออก ให้กับผู้ประกอบการโดยตรง และให้เป็นไปอย่างทั่วถึง
4. ควรทบทวนหรือลดขั้นตอนในการส่งออกให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการได้คล่องตัวมากกว่านี้ เนื่องจากขั้นตอนบางอย่างมีความซับซ้อน ต้องใช้ระยะเวลา โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่มีทะเบียนหรือประวัติอยู่แล้ว
5. เปิดเวทีการเจรจาการค้า การลงทุน ระหว่าผู้ประกอบการและคู่ค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีความต้องการสินค้าจากไทย