กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ ปรับลดระบายน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักฯ พร้อมปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีน้ำน้อย เดินหน้าวิจัยพัฒนาจรวดฝนหลวง คาดทดลองใช้ในปี 2560 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่แคบและติดชายแดน
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงให้ความสำคัญและตระหนักถึงความเดือดร้อนที่เกี่ยวกับน้ำของราษฎรในทั่วทุกภูมิภาค โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ดำเนินงานปฏิบัติการฝนหลวงมาอย่างต่อเนื่องตลอดปีงบประมาณ 2559 จนถึงปัจจุบันส่งผลให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งได้เพิ่มปริมาณน้ำอย่างเป็นที่น่าพอใจ พร้อมทั้งวางแผนการเตรียมการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนหากประสบปัญหาน้ำท่วม ตลอดทั้งวางแผนการดำเนินงานไปจนถึงช่วงฤดูแล้งหน้าด้วย
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ว่า ขณะนี้(19 ต.ค.59) สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ 2-3 วันที่ผ่านมาจะเกิดฝนตกในบริเวณลุ่มน้ำสะแกกรัง แต่ก็มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นบ้างเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ ในการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้กรมชลประทาน พิจารณาปรับลดการระบายน้ำในช่วงท้ายน้ำให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด ซึ่งกรมชลประทานได้ปรับลดปริมาณการระบายน้ำจาก 2,300 ลบ.ม./วินาที จนเหลือ 2,018 ลบ.ม./วินาที โดยกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาโดยนำน้ำเข้าสู่ระบบทั้งซ้าย-ขวา เพื่อนำเข้าไปเก็บในลำคลอง ทั้งคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำ และในพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งต่อไป
สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กรมชลประทานได้ลดการระบายน้ำลง จากเดิมที่เคยระบายถึง 60 ล้าน ลบ.ม. /วัน เหลือเพียง 35 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มเก็บน้ำได้เป็นวันแรก โดยได้ระบายน้ำออกน้อยกว่าปริมาณน้ำที่ไหลเข้า ส่วนพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวเสร็จแล้วในทุ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทางจังหวัดได้นำน้ำไปเก็บในทุ่งป่าโมกแล้ว ส่วนทุ่งบางบาลและทุ่งที่เหลือเกษตรกรขอเวลาเก็บเกี่ยวในวันพรุ่งนี้อีกหนึ่งวัน โดยหลังจากวันที่ 20 ต.ค.59 เมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้วจะนำน้ำเข้าไปเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งต่อไป
ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวถึงการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน ว่า ในภาพรวมของปีงบประมาณ 2559 (สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ย.59) ได้มีการปฏิบัติการฝนหลวงทั้งสิ้นจำนวน 206 วัน จำนวนวันที่ฝนตก 200 วัน คิดเป็นร้อยละ97 โดยขึ้นบินจำนวน 4,034 เที่ยวบิน ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนประมาณ 4,287 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งใน 4 เขื่อนใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวม 2,377 ล้าน ลบ.ม.โดยทั้ง 4 เขื่อนใหญ่ มีปริมาณน้ำใช้การได้กว่า 9,000 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่ค่อนข้างดี
สำหรับในปีงบประมาณ 2560 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.59 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้ออกปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 18 วัน จนถึงเมื่อวานนี้(18 ต.ค.59) มีฝนตกทั้ง 18 วัน คิดเป็นร้อยละ 100 มีเที่ยวบินขึ้นปฏิบัติการทั้งหมดจำนวน 320 เที่ยวบิน มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนทั้งหมดจำนวน 1,390 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็น 4 เขื่อนใหญ่จำนวน 551 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง และเขื่อนปราณบุรี ยังมีปริมาณน้ำในเขื่อนค่อนข้างน้อย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำชับให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร พิจารณาปรับแผนการดำเนินการอีกครั้งเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนเขื่อนปราณบุรีและเขื่อนบางลาง ยังมีปริมาณน้ำน้อยและมีความยากในการปฏิบัติการฝนหลวง เนื่องจากเป็นพื้นที่แคบและติดชายแดน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงได้มีโครงการวิจัยเกี่ยวกับการทำจรวดฝนหลวง โดยคาดว่าในปี 2560 จะมีการทดลองนำมาใช้ในพื้นที่แคบ หรือพื้นที่ติดชายแดน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะที่โครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจากปี 2559 ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์นั้น ในปี 2560 จะมีการขยายผลการดำเนินการในพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคอง โดยจะขึ้นบินโปรยเมล็ดพันธุ์หลังการปฏิบัติการฝนหลวงแล้ว