กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ได้วิเคราะห์ข่าว "อสังหาฯอีสานเริ่มฟื้นตัว อุดร-ขอนแก่นขยับ/โคราชคึกอานิสงส์เมกะโปรเจ็กต์รัฐ" ข้างต้น (http://bit.ly/1p9oCH1)เพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับประชาชนผู้เสพข่าวไว้ดังนี้:
1. ที่ว่า "สำหรับธุรกิจอสังหาฯ แนวราบจะมีโอกาสเติบโตมากกว่าแนวสูงหรือคอนโดมิเนียม เนื่องจากในภูมิภาคยังมีพื้นที่การดำเนินธุรกิจที่เพียงพอ" ข้อนี้อาจไม่เป็นความจริง เพราะในช่วงบูมเมื่อ 2-3 ปีก่อน มีโครงการอาคารชุดเกิดขึ้นมหาศาลโดยไม่มีคนท้องถิ่นคาดคิดได้มาก่อน เพียงแต่ในขณะนี้เกิดปัญหาล้นตลาด จึงทำให้การสร้างอาคารชุดใหม่ ๆ ไม่มี
2. ที่ว่า "ธุรกิจอสังหาฯทุกประเภทของจังหวัดอุดรธานี ได้หยุดนิ่งไปไม่ใช่เป็นการถดถอย แต่เป็นการหยุดนิ่งเพื่อรอเวลาที่จะปรับตัว" ข้อนี้ก็อาจต้องคิดให้ดี การพูดในแง่ "บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น" ก็ดี แต่ถ้าใครไปลงทุนตามนั้น คงประสบปัญหาแน่นอน เพราะศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยได้พบว่า "ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาทั้งจังหวัดขายได้ประมาณ 866 หน่วย รวมมูลค่าที่ขายได้ 2,715 ล้านบาทซึ่งถือว่าขายได้ค่อนข้างช้า ต่างจากเมื่อ 2 ปีก่อน กรณีนี้ไม่ได้เป็นเพราะปัญหาการล้นตลาด" (http://bit.ly/1NruNQ1)
3. ตามข่าวกล่าวว่า ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินบางรายเชื่อว่า "ในปี 2559 เชื่อมั่นว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในจังหวัดอุดรธานี จะกลับสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้น" ข้อนี้ ปรากฏว่าความเห็นจากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องพบว่า "เมื่อเทียบกับปี 2556 ส่วนใหญ่ 63% ระบุว่าภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2556 ดีกว่าปี 2558 มีเพียง 7% ที่ระบุว่าปัจจุบันดีกว่าเมื่อ 2 ปีก่อน ต่อการคาดการณ์ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2559 จะเป็นอย่างไร ปรากฏว่า 47% คาดว่าจะดีกว่าปี 2558 นี้ 47% คาดว่าเป็นเช่นเดียวกับปีนี้ และอีก 7% เห็นว่าจะแย่ลงกว่าปีนี้เสียอีก ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นยังมีไม่สูงนัก" (http://bit.ly/1NWpXdI)
4. ที่บอกว่า "อสังหาริมทรัพย์จังหวัด (อุดรธานี) เฉพาะเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2559 มีผู้ยื่นขออนุญาตจัดสรรที่ดินและมีการอนุมัติจากคณะกรรมการจัดสรรฯแล้วประมาณ 20 ราย" ข้อนี้ยังไม่อาจถือเป็นดัชนีที่เชื่อถือได้ เพราะการขออนุญาต ไม่ใช่ว่าจะมีการเปิดตัวโครงการจริง ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีก็อาจจะชะลอไป และการเปิดตัว ก็อาจเปิดเพียงบางส่วนของโครงการ ไม่ใช่ทั้งโครงการ จะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2558 แทบจะไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่
5. ส่วนที่จังหวัดขอนแก่นที่ว่า "อสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดขอนแก่นล่าสุดเริ่มคึกคักขึ้นเล็กน้อยหรือเรียกว่าเริ่มขยับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงปี 2558 ทั้งนี้เนื่องจากเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% ที่จะหมดลงวันที่ 28 เมษายน 2559" ลำพัง "มาตรการน้ำจิ้ม" แบบนี้คงช่วยกระตุ้นโครงการที่กำลังขายอยู่ ให้ขายได้ตลอดรอดฝั่ง มากกว่าจะชี้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ดีขึ้น ดูการวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/1RQPh4u
6. ส่วนที่กล่าวว่า "ปี 2559 เริ่มดีขึ้นจากปี 2558 แต่ไม่หวือหวา โดยเฉพาะโคราช ได้ทั้งรถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช รถไฟทางคู่ มาบกระเบา-ชุมทางถนนจิระ นครราชสีมา อีกทั้งยังมีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มาลง 3 ราย ได้แก่ ห้างเซ็นทรัล เดอะมอลล์ และเทอร์มินอล 21 ส่งผลให้อสังหาฯ คึกคักที่สุด" ข้อนี้มีส่วนจริง แต่ไม่รู้ว่าจะได้สร้างจริงหรือไม่ เพราะพูดกันมานาน และการอาศัยปัจจัยภายนอกมาพูดถึงโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยภายในคือราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ กำลังซื้อตกต่ำ ถือเป็นการมองด้านเดียว ส่วนการที่ธุรกิจค้าปลีกมาเปิดตัวหลายแห่ง ก็อาจเป็นเพราะการวางแผนไว้ก่อนหน้าที่เศรษฐกิจจะตกต่ำ จึงต้องดำเนินการต่อไปก็ได้
ดังนั้น กรณีนี้จึงเป็นกรณีศึกษาสำคัญที่ประชาชนผู้เสพข่าวจะต้องรู้เท่าทันข่าวให้ดี เพราะหากหลงซื้อหรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ตามเนื้อข่าว อาจทำให้ประสบปัญหาได้
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน