กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
บางคนบอกว่า "ไม่ควรรีดเลือดกับปู" อย่าไปเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับ "คนจน" เลย จึงมีการเสนอยกเว้นสารพัด ในความเป็นจริง ควรเก็บภาษีนี้กับ "คนจน" หรือไม่
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะนำ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาจัดเก็บ เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนอย่างมาก เพราะปัจจุบันปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่ส่งผลกระทบกับประชาชนในทุกระดับชั้นจนพูดกันไม่ออกแล้ว (http://bit.ly/1VGI8st)
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเห็นแย้งว่า ภาษีนี้ควรจัดเก็บไม่ว่าในสถานการณ์ใด เพราะ
1. ภาษีนี้มีภาระต่ำมาก ที่ว่าเช่นนี้ก็เพราะอัตราภาษีต่ำมาก ยกตัวอย่างเช่น คน ๆ หนึ่งมีบ้านราคา 1 ล้านบาท เสียภาษี 0.1% หรือปีละเพียง 1,000 บาท หรือเดือนละ 83 บาท ซึ่งยังถูกกว่าค่าเก็บขยะและดูแลชุมชนเสียอีก ในประเทศยุโรปและอเมริกา เขาจัดเก็บภาษีกันในอัตรา 1-2% ของมูลค่าทรัพย์สินทำให้มีเงินไปพัฒนาท้องถิ่นได้มากมาย เขาจึงมีสาธารณูปโภคที่ดีกว่าไทย
2. ภาษีนี้มีแต่ได้ ไม่มีใครเสียหาย ภาษีนี้เก็บมาเพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นโดยตรง โดยอาจนำมาใช้พัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การศึกษาให้ทันความต้องการของท้องถิ่น และเมื่อท้องถิ่นได้รับการพัฒนา มูลค่าทรัพย์สินของเราก็จะยิ่งเพิ่มพูน เช่น คน ๆ หนึ่งมีบ้านราคา 1 ล้านบาท เสียภาษี 0.1% หรือปีละเพียง 1,000 บาท แต่เมื่อท้องถิ่นได้รับการพัฒนา ราคาบ้านก็สามารถเพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 3% ต่อปี หรือปีละ 30,000 บาท ดังนั้นการเสียภาษีเพียง 1,000 บาท แต่ทำให้ทรัพย์สินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากมายนั้น จึงนับเป็นความคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง
ยิ่งกว่านั้น ดร.โสภณ เห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องยกเว้นภาษีนี้ให้กับใครเลย เพราะการยกเว้น จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจ และอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้ ยกตัวอย่างเช่น บางคนอาจมีห้องชุดราคาเพียง 300,000 บาท ต้องเสียภาษี 0.1% หรือปีละ 300 บาท เงินเพียงเท่านี้จะเสียเพื่อตัวเองและประเทศชาติไม่ได้เลยหรือ บางท่านอาจบอกว่า 300 บาทของผู้มีรายได้น้อยก็ถือว่ามากแล้ว กรณีนั้นอาจจะใช่ หากเป็นคนจนจริง ก็คงไม่มีสมบัติอะไร แม้แต่ผู้ที่มีจักรยานยนต์เก่าสักคันหนึ่ง ราคา 30,000 บาท ก็ต้องเสียภาษีปีละเกือบ 1%
ผู้ที่มีทรัพย์สิน 300,000 บาท แม้จะน้อยเมื่อเทียบกับคนมีบ้านหลังใหญ่กว่า แต่ก็ไม่ถือเป็นผู้มีรายได้น้อย และที่สำคัญชาวบ้านอาจทำบุญ ทำสังฆทาน (อาจเพราะเมื่อคืนฝันไม่ดี) เป็นเงินครั้งละมากกว่า 300 เสียอีก บางคนยังอาจเสียไปกับอบายมุขต่าง ๆ มากกว่านี้นัก ดังนั้นการเสียภาษีเพื่อประโยชน์สุขของตนเองโดยตรง จึงไม่พึงเป็นปัญหา และควรรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันมีสำนึกเสียภาษี
ยิ่งถ้าเป็นชาวนาที่มีที่ดินขนาดเล็กเพียง 15 ไร่ อยู่ในที่ทุรกันดารที่มีราคาไร่ละ 10,000 บาท ชาวนาดังกล่าวก็มีทรัพย์สินเป็นเงิน 150,000 บาท หากเขาต้องเสียภาษี ณ อัตรา 0.05% เขาจะเสียเป็นเงินเพียง 75 บาทต่อปีเท่านั้น ภาระภาษีเช่นนี้จึงไม่น่าจะมีปัญหากับชาวนาเลย และอย่างน้อยชาวนาท่านนี้ก็ยังมีทรัพย์สิน ไม่ใช่ชาวนาเช่านาแต่อย่างใด เงิน 75 บาทที่เสียไปเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ควรสร้างความภูมิใจแก่ชาวนาท่านนั้นต่างหาก
การยกเว้นภาษีเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับประชาชนทั่วไป ในแง่หนึ่งอาจเป็น "ทฤษฎีสมคบคิด" เพื่อหวังลดภาระภาษีให้กับคนรวย ๆ ให้ไม่ต้องเสียภาษี หรือได้รับการลดหย่อนบ้าง ด้วยอ้างว่าจะได้เสมอหน้ากัน แต่ความจริงแล้วการจัดเก็บภาษีกับคนมีสมบัติมาก ๆ เช่นนี้ก็เพื่อให้คนรวยคายที่ดินออกมาบ้าง ไม่ใช่สะสมเพื่อลูกหลานตนท่าเดียว อุปทานที่ดินในตลาดมีน้อย ราคาที่ดินก็แพง เป็นภาระแก่คนจน แถมเมืองยังต้องขยายออกสู่รอบนอก รุกที่ชนบทอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและไม่เป็นระบบอีกด้วย
มาทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่งเสริมภาษีนี้กันดีกว่า โปรดอ่านหนังสือนี้ (Download ฟรี) "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ"
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน