ความล้มเหลวของการผังเมืองไทย

ข่าวอสังหา Wednesday November 11, 2015 12:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส วันนี้มีข่าว "ครม.ยินยอมยืดหยุ่นผังเมือง ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดห้ามตั้งโรงงานบางประเภท" http://bit.ly/1MmTNnv) นี่แสดงให้เห็นว่าการผังเมืองไทยล้มเหลว วางผังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แทนที่จะช่วยนำทางการพัฒนากลับกลายเป็นการกีดขวางการพัฒนาประเทศ ตามข่าวกล่าวว่า "ที่ประชุม (ครม.) เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยยกเลิกบัญชีกำหนดประเภทจำพวกโรงงานท้ายกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวมเมืองชุมชน และจัดทำข้อกำหนดใหม่ที่มีลักษณะยืดหยุ่น เพื่อสามารถรองรับนโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศเปลี่ยนแปลงตามสภาพเศรษฐกิจ และเพื่อให้ยืดหยุ่นต่ออุตสาหกรรมต่างๆที่ต้องพัฒนาในแต่ละพื้นที่ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมนำเสนอ "การมีบัญชีกำหนดประเภทจำพวกโรงงานท้ายกฎกระทรวง ทำให้อุตสาหกรรมบางกิจการไม่สามารถตั้งโรงงานได้ เพราะไม่อยู่ในรายชื่อบัญชีนั้น เช่น โรงงานเกษตรแปรรูป หรือ กิจการพลังงานทดแทน โดยการยกเลิกบัญชีดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุนมากขึ้น" "ตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดทำรายงานการโซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรมที่เหมาะสมในแต่จังหวัด รวมทั้งหมด 34 จังหวัด เพื่อนำไปประกอบการวางแผนและจัดทำผังเมืองและ ออกเป็นกฎหมายผังเมืองต่อไป โดยจะได้สอดคล้องนโยบายที่รัฐกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น ทั้งเขตเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับที่รัฐบาลจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและอุตสาหกรรมด้านคลัสเตอร์" ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เสนอให้ทำผังเมืองให้เป็นเสมือนแผนแม่บทการใช้ที่ดินที่ทุกภาคส่วนมีส่วนรวม โดยมีบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการวางผังเมืองซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็น ๆ อย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นการผังเมือง ก็จะไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีประสิทธิผลสำหรับการพัฒนาประเทศ อย่างเช่นในกรณีผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร แม้สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร หรือแม้แต่กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย จะพยายามจัดทำผังเมืองให้ดี แต่ก็ไม่สามารถบรรลุได้ เนื่องจากขาดบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่อาจจัดทำผังเมืองที่เป็นคุณต่อส่วนรวมได้ ดร.โสภณ จึงขอเสนอให้รัฐบาลเป็น "เจ้าภาพ" จัดทำผังเมืองในลักษณะการปฏิรูปใหม่ ให้ผังเมืองเป็นเสมือนแผนแม่บท 5 หรือ 10 ปี ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เมืองได้รับการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยตรง รัฐบาลควรรื้อระบบการวางผังเมืองใหม่หมดโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมจริง ไมใช่รับฟังแต่ในเชิงรูปแบบ อันที่จริงพึงให้ประชาชนในท้องที่กำหนดการใช้ที่ดินของตนเอง ไม่ใช่ให้รัฐโดยเฉพาะกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้กำหนด ซึ่งมักจะมีปัญหาเพราะกำหนดไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอยู่เนือง ๆ ต้องให้ประชาชนได้มีส่วนตัดสินใจ อย่างกรณีผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร แม้มีผู้ร้องราว 2,000 ราย แต่กรุงเทพมหานครก็ได้ตอบสนองแก้ไขเพียง 3 ราย ที่เหลือไม่ได้รับการแก้ไข และไม่ได้มีเหตุผลบันทึกให้เป็นที่เข้าใจร่วมกันแต่อย่างใด ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับการวางผังเมือง ทุกวันนี้นอกเขตผังเมืองรวม จะสร้างอะไรก็ได้ โรงงานจึงไปผุดนอกเขตผังเมืองรวม เท่ากับผังเมืองรวมไม่มีความหมาย การบังคับใช้กฎหมายผังเมืองก็ไม่เคร่งครัด บ้างใช้ช่องโหว่ก่อสร้าง บ้างอาจมีการทุจริตในการอนุญาตการก่อสร้างในบริเวณที่ห้ามสร้างเป็นต้น ดร.โสภณ ยังเสนอว่า เราควรทำผังเมืองเชิงรุก เช่น 1. การสร้างศูนย์กลางธุรกิจในใจกลางศูนย์ธุรกิจ (CBD in CBD) โดยมีการเวนคืนที่เป็นธรรม มีการก่อสร้างบ้านทดแทนในบริเวณที่ใกล้เคียงเดิม ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน 2. การสร้างศูนย์ชุมชนนอกเมือง โดยเป็นพื้นที่ปิดล้อม เชื่อมต่อกับใจกลางเมืองด้วยทางด่วนและรถไฟฟ้า เพื่อไม่ให้เมืองขยายโดยไร้ขีดจำกัด 3. การจัดสรรที่ดินให้สร้างนิคมอุตสาหกรรม จัดสรรที่ดินให้สร้างหมู่บ้านจัดสรรและอาคารชุดพักอาศัย โดยที่ดินนี้มีสาธารณูปโภคครบครัน ไม่ให้ใครๆ ไปสร้างโครงการที่ได้ตามใจชอบเช่นปัจจุบัน 4. การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเพิ่มอุปทานที่ดิน เป็นต้น 5. การให้แต่ละชุมรุมอาคาร ชุมชน และท้องถิ่นวางแผนการพัฒนาที่ดินของตนเอง ไม่ใช่ เป็นการวางแผน วางผังเมืองแบบจากบนสู่ล่าง (Top Down) เช่นที่ผ่านมา อ้างอิง: AREA แถลง ฉบับที่ 342/2558: วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ