การปลูกป่าโดยให้คนไปครอบครองป่าเป็นความคิดผิดๆ

ข่าวอสังหา Monday May 23, 2016 12:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ขณะนี้มีความพยายามในการปลูกป่าโดยให้ชาวบ้านอยู่ในป่าต่อไป ซึ่งเท่าก้บเป็นการให้สิทธิชาวบ้านทำกิน เข้าทำนอง"มือใครยาว สาวได้สาวเอา" การให้คนอยู่ใกล้ป่าเอาสมบัติของแผ่นดินไปใช้สอยส่วนตัว แต่อ้างว่าดูแลสมบัติของแผ่นดิน เป็นความน่าละอายเป็นอย่างยิ่ง จากข่าว "การฟื้นฟูเขาหัวโล้นที่ประสบความสำเร็จ" โดยไทยรัฐทีวี (http://m.thairath.co.th/clip/48625) อันที่จริงเป็นเรื่องดรามา เป็นไปไม่ได้ และเป็นการครอบครองผืนป่าไปใช้ส่วนตัวอย่างน่าละอาย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ได้เคยเขียนบทความไว้เกี่ยวกับการที่ชาวเขาครอบครองป่าเขาไว้ใช้ส่วนตัว AREA แถลงฉบับนี้จึงนำมาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง ดังนี้: เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2549 ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมหมู่บ้านปกากะญอ (กะเหรี่ยง หรือ karen) แห่งหนึ่งที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ได้เรียนรู้เกี่ยวกับป่าชุมชนและความร่วมมือของชาวเขาในการรักษาป่า ซึ่งนับเป็นความพยายามที่ดี แต่ก็มีคำถามบางประการที่อาจ"มองต่างมุม" เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาป่า ชาวเขารักษาป่า หมู่บ้านที่ผมไปเยี่ยมมี ชาวเขาราว 100 คนใน 20 หลังคาเรือน ชาวเขาเหล่านี้ร่วมกันรักษาป่า โดยทำ"แนวกันไฟ" บนสันเขาด้วยการถางป่ากว้าง 6 เมตรยาวนับสิบกิโลเมตรแล้วคอยปัดกวาดใบไม้เพื่อควบคุมไฟป่า เมื่อใดที่เกิดไฟป่า ชาวบ้านจะร่วมกันดับไฟ และในยามค่ำคืนก็ยังมีอาสาสมัครในหมู่บ้านคอยเฝ้าระวังไฟป่า หมู่บ้านนี้ดูแลป่าถึง 10,000 ไร่ และหากรวมหมู่บ้านอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกันอีก 6 หมู่บ้าน ก็จะมีพื้นที่ภายใต้การดูแลของชาวเขาเหล่านี้ถึง 60,000 ไร่ (96 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งนับว่ากว้างพอสมควรเพราะเทียบได้ถึง 1 ใน 16 ของขนาดของกรุงเทพมหานคร และนอกจากป้องกันไฟป่าแล้ว ชาวเขาเหล่านี้ยังคอยระวังไม่ให้บุคคลภายนอกอื่นเข้ามาหาของป่าในพื้นที่ที่ตนเองดูแลอยู่ด้วย ในพื้นที่ 10,000 ไร่ของชาวเขา 20 หลังคาเรือนนี้ ได้รับการถากถางเป็นไร่นาประมาณ 600 ไร่เศษ โดยนำที่ราบเชิงเขามาปลูกข้าวนาปี ส่วนพื้นที่ลาดชันไหล่เขา นำมาทำไร่ - นาแบบหมุนเวียน คือจะหมุนกลับมาทำกินใหม่ทุกรอบ 7 ปี (ไม่ใช่ไร่เลื่อนลอยดังนั้นจึงไม่ทำให้ดินเสื่อมโทรม) ซึ่งนับเป็นแนวทางที่สร้างสรรค์ของชาวเขาเผ่านี้ ยังมีป่าอันอุดมให้รักษาอีกหรือ ป่าที่ดูคล้ายสมบูรณ์นี้ ความจริงแทบไม่มีอะไรเหลือแล้ว ชาวบ้านเล่าว่า ก่อนหน้าการยกเลิกสัมปทานตัดไม้เมื่อปี 2532 นั้น ปรากฏว่ามีคนงานถึง 50 คนพร้อมเลื่อยยนต์และช้างมากมายเข้ามาตัดไม้กันทั้งวันทั้งคืนนานหลายปี ตัดต้นไม้ใหญ่ล้มลงหนึ่งต้น ก็ทำให้ต้นไม้ขนาดเล็กกว่าที่อยู่ใกล้เคียงล้มอีก 4-5 ต้น มาถึงวันนี้ทางราชการคงไม่คิดให้สัมปทานทำไม้อีก แต่หากสมมติว่าให้ ก็ใช่ว่าจะมีผู้สนใจ เพราะไม่คุ้มทุนอีกต่อไป ต้นไม้ใหญ่ที่มีค่าเชิงพาณิชย์ได้ถูกตัดโค่นไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว ยิ่งกว่านั้นป่าก็ไม่ได้รับการปรับปรุง ตั้งแต่ยกเลิกสัมปทานทำไม้ ชาวเขาก็ไม่ได้ปลูกป่าเพิ่มแต่อย่างใด เพียงแต่พอเวลาผ่านไประยะหนึ่งต้นไม้เล็กขึ้นแซมต้นไม้ใหญ่ที่ยังพอมีอยู่บ้าง จึงทำให้ดูคล้ายกับว่าป่ายังสมบูรณ์อยู่ แม้แต่สัตว์ป่าก็ไม่กลับมา ชาวบ้านเล่าว่า สัตว์ป่าที่มีอยู่มากมายในช่วงก่อนให้สัมปทานป่าไม้ก็หายไปแทบหมดแล้ว เพราะป่าไม้ถูกตัดโค่นมากมาย ดังนั้นจึงเป็นข้อสงสัยว่า ยังจะมีป่าอันอุดมใดให้ชาวเขารักษาอีกหรือ คนอื่นมาอยู่แทนบ้างได้ไหม การที่ชาวเขาครอบครองป่านับหมื่นไร่ ใช้ทำมาหากินกันเฉพาะคน 20 หลังคาเรือนนั้นมากไปหรือไม่ ชาวเขาทำตนเป็นอภิสิทธิชนหรือไม่ เพราะถ้าเป็นการปฏิรูปที่ดิน แต่ละครอบครัวจะได้เพียง 15 ไร่ รวมแล้วทั้งหมู่บ้านก็คงมีที่ทำกินไม่เกิน 300 ไร่เท่านั้น ถ้าบอกว่าชาวเขาเป็นแรงงานราคาถูกที่ช่วยรักษาป่า ก็คงต้องถามกันต่อว่า คนอื่นจะมาอยู่แทนบ้างได้ไหม 1. ถ้ามีชาวบ้าน ชาวปกากะญอกลุ่มอื่น หรือชนเผ่าอื่นจะขอสิทธิอันนี้บ้างโดยขอเข้าประกวดอยู่แทนชาวเขากลุ่มนี้ (เพราะถือเป็นคนไทยเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้มาบุกรุกอยู่ป่าเท่านั้น) จะได้หรือไม่ 2. ถ้าชาวบ้านกลุ่มอื่นบอกว่าจะยินดีจ่ายภาษีมากกว่าชาวเขากลุ่มนี้ซึ่งไม่ได้เสียภาษีโดยตรงอยู่แล้ว จะคิดอย่างไร 3. ยิ่งถ้าธุรกิจเอกชนยินดีจะขอเช่าป่า (และรักษาให้อยู่ในสภาพเดิม รวมทั้งปลูกป่าถาวรให้หนาแน่นยิ่งขึ้น) เพื่อทำธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ (คล้ายกับที่ชาวเขาทำ" โฮมสเตย์" ในปัจจุบัน) และยินดีจ่ายภาษี (อย่างงาม) ให้กับทางราชการเพื่อนำไปทำนุบำรุงประเทศและประชาชน จะได้หรือไม่ เราแน่ใจหรือว่า การที่ชาวเขาเผ่านี้จะดูแลได้ดีกว่าคนอื่นในประเทศนี้ ที่ดินนี้ของใคร ชาวเขาอาจอ้างว่าพวกตนอยู่มาก่อนนับร้อยปีแล้ว น่าจะเป็นเจ้าของทรัพยากร อันนี้คงต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า การเป็นเจ้าของคงหมายเฉพาะถึงการอยู่ในหมู่บ้านของตน แต่การ" ตู่" เอาพื้นที่นับหมื่นไร่ไปใช้เสียเอง น่าจะมากเกินไป การที่เราจะอนุญาตให้ชนกลุ่มใดมา" ถูกหวย" ได้ทรัพยากรมากกว่าประชาชนกลุ่มอื่น อาจเป็นแนวคิดแบบ" มือใครยาวสาวได้สาวเอา" ที่ต้องทบทวน อย่างไรก็ตามหลายคนอาจคิดเพียงง่าย ๆ ว่าพวกเขาจน จึง" ยกประโยชน์ให้จำเลย" ไป โดยถือเสียว่าดีกว่าให้นักการเมืองหรือข้าราชการใหญ่โกงไป ทั้งที่ก็ต่างเป็นการโกงเหมือนกัน ทรัพยากรที่ดิน - ป่าไม้เป็นของส่วนรวม เป็นของทุกคนที่รวมกันเป็นประเทศชาติ ใครครอบครอง ใครได้ประโยชน์ต้องเสียภาษี ซึ่งเป็นการตอบแทนสังคมในรูปแบบหนึ่ง การที่รัฐบาลในฐานะกลไกของประเทศชาติขาดประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากร เราก็ต้องแก้ไขที่ต้นตอ ไม่ใช่หันหลังให้รัฐแล้วเข้าช่วงชิงทรัพยากรกันเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม (ในนามของ" คนจน") แนวคิดเช่นนี้อาจต้องทบทวนให้ดีเพราะจะเป็นการสร้างและผูกปมปัญหาให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นก็ได้ ใครได้ ใครเสีย การปฏิเสธรัฐเป็นแนวคิดที่อันตราย การส่งเสริมให้ชาวเขาหรือชาวบ้านไม่ยอมรับรัฐ สร้างกระแสต่อต้านรัฐในรูปแบบต่าง ๆ โดยไม่นำพาที่จะพัฒนาองคาพยพของรัฐให้มีประสิทธิภาพในระยะยาว อาจถือเป็นวาระซ่อนเร้น หรือเป็นความพยายามบั่นทอนเสถียรภาพของประเทศชาติ ทำร้ายประชาชนไทยโดยรวม เพราะยิ่งเราหันหลังให้รัฐ ก็ยิ่งเหมือนเราเปิดช่องให้เกิดการโกงกินกันมากยิ่งขึ้นหรือไม่ การทำงานเพื่อประชาชนแบบนอกระบบนี้ อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง เพราะสังคมและประเทศชาติไม่อาจปราศจากกลไกรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการปกครองโดยใครหรือระบอบไหนก็ตาม ในทางตรงกันข้ามจะสังเกตได้ว่าผลของการเคลื่อนไหวในขบวนการนอกระบบนั้นผู้ที่ได้ประโยชน์จริงมักเป็นผู้นำนอกระบบที่ได้ทั้งเงินทั้งกล่องในมิติของการเมืองในระบบ เช่น ได้เป็น สส. หรือ สว. เป็นต้น จะเห็นได้ว่า การจัดการป่าไม้เป็นเรื่องซับซ้อน ละเอียดอ่อน ผมจึงเห็นว่าในการจัดการปัญหานั้น เราคงต้องศึกษาวิจัยให้ละเอียด ให้มากและให้จริงจังกว่านี้ เพื่อร่วมกันหาทางออกที่ดีกว่าที่ผ่านมานี้ เราพึงสังวรว่า ในขณะที่เรากำลังทำงานเพื่อประชาชนผู้ยากไร้ทุกวันนี้ มันอาจกลับกลายเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพของชาติไทยและประชาชนไทยอย่างน่าใจหายอยู่หรือไม่ อ้างอิง: AREA แถลง ฉบับที่ 181/2559: วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2559 ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
แท็ก ไทยรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ