มูลค่าและคุณค่าของพระเกจิอาจารย์

ข่าวอสังหา Tuesday May 3, 2016 09:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เห็นเหล่าพุทธพาณิชย์ เอาชื่อพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่ออันเป็นมงคลมาแปะให้อ่านเป็นความหมายแล้ว ทำให้รู้สึกว่านี่เป็นการนับถือแบบพุทธหรือไม่ มูลค่าและคุณค่าของพระเกจิอาจารย์อยู่ที่ไหนกันแน่ พระเกจิอาจารย์ ชาวพุทธนับถือพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ และคนเราก็ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยว แต่ก่อนพระพุทธเจ้านิพพาน ท่านสอนให้ยึดพระธรรมไม่ใช่พระสงฆ์รูปไหน ยิ่งเอาชื่อพระมาเรียงให้ดูดี ยิ่งตลกใหญ่ เป็นพระคนละระดับด้วยซ้ำไป ทำอย่างนี้จะทำให้ชาวพุทธพ้นทุกข์และมีสุขได้หรือ ยิ่งถ้าคิดจะจรรโลงพุทธ ก็ยิ่งไม่ควรไปยึดติดกับตัวบุคคลใด (ไม่ว่าฆราวาสหรือสงฆ์) มากกว่าคำสอน ชาวพุทธไม่ควรถูกพวกพุทธพาณิชย์หลอกลวง พระเป็นสาวกที่เผยแพร่ศาสนา เราพึงเคารพพระสงฆ์ แต่ไม่มากไปกว่าธรรมะที่พระพุทธสั่งไว้ให้ถือแทนท่านก่อนนิพพาน การนำชื่อพระที่มีชื่อเป็นมงคลเอามาแปะส่งเดช ทั้งที่แต่ละรูปมีคุณต่างกัน ต่างยุค ถือเป็นการลบหลู่พระสงฆ์เหล่านั้น ในแง่หนึ่งถือว่าบาปนัก คำว่า "แก้ว แหวน เงิน ทอง มั่น คง เจริญ ศุข สด ชื่น" ฟังแล้วไพเราะดี แต่ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนให้ตัดกิเลส มูลค่าพระเครื่อง พระสงฆ์หลายรูปก็สร้างวัตถุมงคล แต่ถูกกลุ่มพุทธพาณิชย์นำไปปั่นราคาบ้าง หรือนำไปซื้อขายเพื่อฟอกเงินบ้าง แต่วัตถุมงคลก็มีมูลค่าอยู่จริง ตีค่าเป็นตัวเงินได้ เช่น 1. "ชี้ตำหนิจุด พระนางพญา พิษณุโลก พิมพ์เข่าโค้ง องค์ 25 ล้านบาท" {1} ราคาสูงขนาดนี้เลยหรือ 2. 10พระเครื่องดัง {2} โดยแต่ละองค์มีราคาสูงลิ่ว 3. "พระสมเด็จองค์ครูเอื้อมูลค่าเฉียด 100 ล้าน. . . ส่วนองค์เจ้แจ๋วสูงกว่า ๑ เท่า สวยที่สุดในประเทศไทย ราคา ๒๐๐ ล้านบาท" {3} กรณีนี้เป็นการตีราคากัน แต่สินค้ามีเพียงไม่กี่ชิ้น อาจไม่ถือเป็นราคาตลาดที่เชื่อถือได้ และการซื้อขาย (เช่า) วัตถุมงคลก็อาจเป็นการฟอกเงินทางหนึ่งก็ได้ ราคาจึงไม่ได้สะท้อนมูลค่า แต่สำหรับที่มีการซื้อขายกันอย่างกว้างขวาง บางครั้งก็ไม่ใช่ราคาตลาด เช่น จตุคามรามเทพ {4} ซึ่งมีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะการเก็งกำไร (ฟีเวอร์) อย่างชัดเจน มีคนจำนวนหนึ่ง (ไม่ใช่คนส่วนใหญ่) แห่แหนกันซื้อเก็งกำไร แต่สุดท้ายราคาก็ตกต่ำลง จนถึงขั้นทิ้งร่วมแสนองค์ริมถนน {5} ราคาตลาด ไม่ว่าจะเป็นวัตถุมงคลหรือของสะสมใด ๆ หากมีตลาดก็จะมีราคาเป็นราคาตลาด (Market Prices) ราคานั้นก็จะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (Market Value) ของทรัพย์สินที่เราประเมินซึ่งอาจแตกต่างไปบ้างตามลักษณะเฉพาะของทรัพย์สิน โดยถือตามพฤติกรรมตลาด (Market Behavior หรือ Market Practices) ในท้องตลาด เป็นผู้กำหนดราคาตลาด อย่างไรก็ตามในตลาดที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect Market) กลไกตลาดอาจถูกบิดเบือนไปได้ในบางขณะสั้น ๆ แต่ไมใช่ตลอดไป {6} อาจกล่าวได้ว่าเมื่อมีตลาด ก็จะมีราคา เพราะตลาดเป็นแหล่งสังเคราะห์อุปสงค์และอุปทานให้ออกมาเป็นราคาตลาด มีตัวอย่างว่า ครั้งหนึ่งก้อนหินจากดวงจันทร์ถูกขโมยหายไปจากองค์การนาซา ปรากฏว่าหินก้อนนี้มีราคา 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่มีราคาเช่นนี้ก็เพราะมีพฤติกรรมตลาดที่แน่ชัดที่ผ่านการซื้อขายมาหลายต่อหลายครั้งในตลาด จนสามารถทราบได้นั่นเอง นักวิทยาศาสตร์ประเทศอื่นคงไม่สามารถไปดวงจันทร์ได้โดยง่าย แต่ก็อยากได้หินมาทดลองทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงมีระบบตลาดของหินดวงจันทร์เกิดขึ้น แต่กรณีพระเครื่องที่หามาทดแทนไม่ได้ ราคาที่มีการซื้อขายอย่างจำกัดก็ไม่ถือเป็นราคาตลาด ควรยึดคำสอนพระเกจิอาจารย์ เพราะสภาวะพุทธพาณิชย์ที่มอมเมาผู้คนและสร้างภาพเกจิอาจารย์ชื่อดังทั้งหลาย ซึ่งเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ให้กลายเป็นประหนึ่ง "เทพ" ซึ่งจริง ๆ น่าจะต่ำกว่า "สงฆ์" และคำสอนต่าง ๆ กลับไม่ได้รับการเผยแพร่ เช่น สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พฺรหฺมรังสี มีคำสอนที่สังคมอาจไม่รู้มากมาย เช่น "บุญเราไม่เคยสร้าง...ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า ... ลูกเอ๋ย ก่อนที่จะเข้าไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือบารมีของตนลงทุนไปก่อน . . . " {7} แต่ส่วนมากเรามักรู้จักแต่พระสมเด็จราคาองค์ละหลายๆ ล้าน อิทธิปาฏิหาริย์ ทั้งที่ท่านสมถะเป็นอย่างยิ่ง พุทธพาณิชย์บิดเบือนภาพพระดีๆ ให้เป็นอื่น โดยเราแทบไม่ได้เรียนรู้อะไรในทางธรรมะเลย ศาสนาไม่ได้รับการส่งเสริมให้ถูกทาง หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ก็สอนว่า "ศาสนาทางมิจฉาทิษฐิ ก็นับวันจะแสดงปฏิหาริย์ คนที่โง่เขลาก็จะถูกจูงไปอย่างโคและกระบือ ผู้ที่ฉลาดก็เหลือน้อย" {8} แต่ปรากฏว่าผู้คนจำนวนมากมักงมงายอิทธิปาฏิหาริย์ ไม่รับเอาธรรมะ เน้นพุทธพาณิชย์ ไม่ช่วยจรรโลงศาสนา ทั้งที่พระรูปนี้ท่านไม่ยึดติด เป็น "พระครู" แต่เป็นอาจารย์หลวงปู่ชื่อดังๆ แต่สมัยนี้แม้แต่พระก็ยังงมงายในลาภยศ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ก็แสดงธรรมที่ลึกซึ้ง เช่น ท่านถามว่าพากันลำบากลำบน มากันทำไม? คณะญาติโยม ก็ตอบว่าต้องการมากราบ บารมีของหลวงปู่ ท่านจึงตอบว่า "บารมี ต้องสร้างเอาเหมือนอยากให้มะม่วงของตนมีผลดก ก็ต้องหมั่น บำรุงรักษาเอา ไม่ใช่แห่ไปชื่นชมต้นมะม่วงของคนอื่น ต้องไปปลูก ไปบำรุงต้นมะม่วง ของตนเอง การสร้างบารมีก็เช่นกัน ต้องสร้างต้องทำเอาเอง" {9} แต่พุทธพาณิชย์กลับมอมเมาให้คนเรามักยึดติดกับบุคคล ปาฏิหาริย์ มากกว่าธรรม หลวงปู่ทวด ซึ่งเกิดเมื่อ 432 ปีที่แล้ว ท่านก็เป็นที่รับรู้ของสังคมว่าเป็นผู้แสดงปาฏิหาริย์ "เหยียบน้ำทะเลจืด" แต่ไม่ค่อยมีผู้สนใจคำสอนของท่าน เช่น "ผู้ใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่เกิดก่อน ผู้ดีไม่ใช่อยู่ที่เรียนสูง มารยาทจรรยาของการเป็นผู้ใหญ่ ก็คือต้องสุขุมรอบคอบและไม่ยึดติดเสียงเป็นหลัก คือต้องไม่หวั่นไหวกับคำนินทาและสรรเสริญ" {10} แต่ปัจจุบันเรากลับยึดติดกับตัวตนของหลวงปู่ทวดและอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งไม่ใช่ธรรมะของพระพุทธเจ้า อย่าหลงนิยมวัตถุ หลายท่านคงเคยได้ยินพุทธพจน์ที่ว่า "ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงไว้ และบัญญัติไว้ด้วยดี นั่นแหละจักเป็นพระศาสดาของพวกท่านสืบแทนเราตถาคต เมื่อเราล่วงไปแล้ว" {11} พระพุทธเจ้าให้ชาวพุทธยึดถือ (และปฏิบัติตาม) พระธรรมเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงไม่มีประวัติการสร้างพระพุทธรูปเลยในอีกนับร้อย ๆ ปีต่อมา ในยุคนั้น ใครสร้างพระพุทธรูปอาจถือเป็นการล้อเลียนและไม่เคารพพุทธพจน์ {12} จะเห็นได้ว่าในการเผยแพร่พุทธศาสนาในยุคต้น จึงมีการสร้างพระไตรปิฎกเป็นตัวแทนของพุทธศาสนาออกไปเผยแพร่ แต่ในระยะหลังมา ชาวพุทธกลับมีพระพุทธรูปไว้กราบไหว้จำนวนมาก และได้รับการอ้างอิงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง ๆ ที่เราก็เคยได้ยินคำว่า 'พระอิฐ พระปูน' มานานแล้ว นอกจากนี้เรายังก้าวเลยไปถึงการสร้างพระเครื่อง และรูปเหมือนของพระสงฆ์ต่าง ๆ ทั้งที่ในสมัยพุทธกาลหรือแม้แต่พระภิกษุชั้นผู้ใหญ่หลังพุทธกาลก็ไม่มีใครสร้างเช่นนี้ ชาวพุทธควรทบทวนว่าการขัดพุทธพจน์นี้ทำให้เรายึดถือพุทธแต่เพียงเปลือกหรือไม่ ทำให้เราไม่ได้เน้นการเรียนธรรมะ เน้นการนิยมวัตถุ และเท่ากับทำให้พุทธศาสนาเสื่อมลงเพราะพวกเรากันเองหรือไม่ บางท่านอาจแย้งว่า คนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนอาจต้องมีพระพุทธรูปหรือพระเครื่องเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เพื่อนำพาไปสู่ธรรมะในที่สุด แต่ข้อนี้ก็คงต้องมาประเมินกันให้ชัดว่า การนี้นำไปสู่ธรรมะหรือนำไปสู่พุทธพาณิชย์เป็นสำคัญ และยิ่งทำให้ชาวพุทธยึดติดในการนิยมวัตถุหรือไม่ บทส่งท้าย ชาวพุทธควรยึดถือในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าให้ยึดถือไว้เหนือเหนือยศ-ศักดิ์ เหนือชาตินี้-ชาติหน้า เหนือการนิยมวัตถุ เหนือพุทธพาณิชย์ หรือเหนือสิ่งอื่นใด เพื่อให้หลุดพ้นไปจากความทุกข์และประสบแต่ความสุขมีมงคลต่อชีวิตและสังคม ถ้าจะยึดมงคล ก็ถือธรรมะมงคล 38 ประการ {13} และสังวรตามบทประพันธ์ของท่านพุทธทาสที่ว่า "กรรมดี ดีกว่ามงคล สืบสร้าง กุศล ดีกว่า นั่งเคล้า ของขลัง พระเครื่อง ตะกรุด อุทกัง ปลุกเสก แสนฉมัง คาดมั่ง แขวนมั่ง รังรุง ขี้ขลาด หวาดกลัว หัวยุ่ง กิเลส เต็มพุง มงคล อะไร ได้คุ้ม อันธพาล ซื้อหา มาคุม เป็นเรื่อง อุทลุม นอนตาย ก่ายเครื่อง รางกอง ธรรมะ ต่างหาก เป็นของ เป็นเครื่อง คุ้มครอง เพราะว่า เป็นพระ องค์จริง มีธรรม ฤามี ใครยิง ไร้ธรรม ผีสิง ไม่ยิง ก็ตาย เกินตาย เหตุนั้น เราท่าน หญิงชาย เร่งขวน เร่งขวาย หาธรรม มาเป็น มงคล กระทั่ง บรรลุ มรรคผล หมดตัว หมดตน พ้นจาก เกิด แก่ เจ็บ ตาย บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ใจกาย อุปัทวะ ทั้งหลาย ไม่พ้อง ไม่พาน สถานใด เหนือโลก เหนือกรรม อำไพ กิเลสา- สวะไหน ไม่อาจ ย่ำยี บีฑา ฯ {14} ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ