กลุ่มเขตศรีนครินทร์จัดกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตชาวกรุงชานเมือง

ข่าวทั่วไป Tuesday November 6, 2001 10:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (5 พ.ย.44) เวลา 11.00 น. ที่ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตในกลุ่มเขตศรีนครินทร์ นำโดย ผู้อำนวยการเขตประเวศ ประธานกลุ่มเขต พร้อมด้วย ผู้อำนวยการเขตหนองจอก สะพานสูง คลองสามวา มีนบุรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง ผู้แทนเขตคันนายาว และเขตสวนหลวง ได้ร่วมกันแถลงถึงความคืบหน้าโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มเขตศรีนครินทร์ ซึ่งมุ่งเน้นการช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย การดำเนินโครงการ ห้องเรียนธรรมชาติในโรงเรียนสังกัดกทม. การลงทะเบียนรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล โครงการ กองทุนหมุนเวียนพันธุ์ข้าว โครงการขี่จักรยานเลียบคลองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โครงการส่งเสริมหนึ่งชุมชน หนึ่งผลิตภัณฑ์ และการส่งเสริมกิจกรรมกีฬาต้านยาเสพติด
เขตประเวศเปิดสวนหลวง ร.9 เป็นห้องเรียนธรรมชาติของเด็ก
นายสุรินทร์ ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตประเวศ ประธานกลุ่มเขตศรีนครินทร์ เปิดเผยว่า นโยบายหลักของกลุ่มเขต ศรีนครินทร์ คือ การพัฒนาคน เพราะเชื่อว่า คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา กล่าวคือ หากจะทำให้ประเทศแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ การพัฒนาคนเป็นปัจจัยแรกที่จะต้องทำ ดังนั้นเขตประเวศจึงได้จัดโครงการ "ห้องเรียนธรรมชาติในโรงเรียนสังกัดเขตประเวศ" ขึ้น โดยกำหนดนโยบายให้โรงเรียนในสังกัดเขตประเวศ ทั้ง 15 โรง จัดทำแผนการศึกษาห้องเรียนธรรมชาติ ในปี 2545 เน้นให้นักเรียนแต่ละโรงเรียนทุกระดับชั้นมีโอกาสหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันเข้ามาศึกษาที่ห้องเรียนธรรมชาติ ในสวนหลวง ร.9 เขตประเวศ โดยศึกษาจากประสบการณ์จริงเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีมากกว่า 2,000 ชนิด ให้นักเรียนได้รู้จักพันธุ์ไม้ที่สนใจอย่างน้อย จำนวน 5 ชนิดต่อคน ปลูกฝังให้เด็กเกิดความรับผิดชอบ สนใจที่จะนำพันธุ์ไม้ตามที่ตนชอบไปปลูกที่บ้านหรือที่โรงเรียนของตนเอง ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความร่มรื่น สวยงาม ของสถานที่ และเป็นการช่วยลดมลพิษแล้ว ยังทำให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจ ในผลงานของตนและสนุกกับการเรียนรู้ เกิดความรักและหวงแหนธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์ไม้ต่าง ๆ และประการสำคัญจะทำให้นักเรียนมีสุขภาพจิต สุขภาพกายที่ดี และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาตนเองให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าต่อสังคมในอนาคต
ผู้อำนวยการเขตประเวศ กล่าวต่อว่า ห้องเรียนธรรมชาติในโรงเรียนสังกัดเขตประเวศเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการจะพัฒนาการศึกษาของนักเรียนในโรงเรียนสังกัดเขตประเวศ ไปสู่ระบบการปฏิรูปการศึกษาแผนใหม่ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะ เกิดกระบวนการทางความคิด คือ รู้จักคิดเป็น ทำเป็น และสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์จริง ในแหล่งวิทยาการต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง หรือป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ ทั้งนี้หากโครงการดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จตามแผนดำเนินการที่กำหนดไว้ เขตฯ จะได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษาจากห้องเรียนธรรมชาติ จากแหล่งวิทยาการประเภทอื่น ๆ ต่อไป
หนองจอกหนุนเกษตรกรจำนำข้าว ส่งเสริม "คลังอาหาร" ชานเมือง
นายเทเวศวร์ ทองศรี ผู้อำนวยการเขตหนองจอก กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีพื้นที่เพาะปลูกในเขตชั้นนอก บริเวณชานเมือง ประมาณ 2 แสน 7 หมื่นไร่ เป็นพื้นที่ทำนาข้าวกว่าหนึ่งหมื่นไร่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวได้ 3 ครั้งต่อปี คิดเป็นรายได้ ปีละประมาณ 724 ล้านบาท ซึ่งพื้นที่เกษตรบริเวณชานเมืองจะเป็น "คลังอาหาร" อย่างดีของชาวกทม. เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตที่อยู่ใกล้เมือง ไม่สิ้นเปลืองค่าขนส่ง รวมทั้งได้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าว ปทุมธานี 1 ที่ปลูกในพื้นที่ชานเมืองให้มีคุณภาพดีใกล้เคียงกับข้าวพันธุ์หอมมะลิซึ่งยังปลูกไม่ได้ในเขตกทม.เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ทำนาข้าวบริเวณชานเมืองตามนโยบายของรัฐบาล สำนักงานเขตหนองจอกร่วมกับสำนักงานเกษตรกรเขตมีนบุรี ได้ประชาสัมพันธ์และจัดเจ้าหน้าที่ออกรับลงทะเบียนจำนำข้าวเปลือกทั่วพื้นที่เขต เพื่อประกันราคาข้าวให้เกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.-5 พ.ย. 44 โดยรับจำนำในราคาเกวียนละ 4,760-4,950 บาท ขึ้นอยู่กับความชื้นของข้าว (ส่วนมากข้าวที่เก็บเกี่ยวได้จะมีความชื้นระหว่าง 15-25%) ทั้งนี้เกษตรที่ต้องการประกันราคาจะต้องมายื่นความจำนงขอลงทะเบียนในเวลาที่กำหนด ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายรับจำนำข้าวไม่จำกัด แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีเกษตรกรมาลงทะเบียนไม่มากนัก ( ณ วันที่ 1 พ.ย. 44 มีผู้มาลงทะเบียน 750 ครัวเรือน จากเกษตรกรที่ทำนาข้าวทั้งสิ้น 2,700 ครัวเรือน) สาเหตุที่มีจำนวนผู้มาลงทะเบียนไม่มาก เนื่องจากบางรายลงทะเบียนเพียงชื่อเดียวแต่เป็นตัวแทนของหลายครอบครัว เกษตรกรบางรายเกรงว่าเมื่อมาลงทะเบียนแล้วจะไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตขายให้รัฐได้ทันกำหนดคือ ในวันวันที่ 15 พ.ย. 44 และบางรายเกรงว่าแม้จะขายข้าวได้ในราคาประกันแต่อาจได้รับเงินจากรัฐบาลล่าช้า ไม่ได้รับเงินทันทีเหมือนการซื้อขายในตลาดจึงไม่มาลงทะเบียน
ผู้อำนวยการเขตหนองจอก กล่าวต่อว่า เขตฯ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้ทำนาข้าวมาลงทะเบียนจำนำข้าว เพื่อจะสามารถขายข้าวได้ในราคาประกันซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรเอง และยังได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการส่งเสริม การผลิต คำแนะนำในการกำจัดศัตรูพืช การพัฒนาคุณภาพพันธุ์ข้าว นอกเหนือจากได้รับการดูแลในเรื่องราคาข้าวด้วย
"กองทุนหมุนเวียนพันธุ์ข้าว" เขตมีนบุรี มุ่งพัฒนาข้าวคุณภาพดี ราคาสูง
นายบรรจง สุขดี ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้ทำนาข้าวในพื้นที่เขตมีนบุรีประสบปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีไว้เพาะปลูกรวมถึงการใช้พันธุ์ข้าวเดิมๆ ทำให้ได้ข้าวคุณภาพต่ำ เขตมีนบุรีพยายามมหาวิธีการช่วยเหลือโดยได้จัดโครงการ "กองทุนหมุนเวียนพันธุ์ข้าว" ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาด้านปริมาณ คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าว ส่งเสริมให้ชาวนาพึ่งตนเอง ตลอดจนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหมู่ผู้ประกอบอาชีพทำนาอันจะทำให้เขตมีนบุรีเป็นแหล่งผลิตข้าวที่มีคุณภาพดีของกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งผลให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาดี เป็นการเพิ่มรายได้และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของชาวนา โครงการนี้เป็นการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มุ่งเพิ่มผลผลิต และส่งเสริมให้ใช้ที่ดินตลอดจนทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี กล่าวต่อไปว่า สำนักงานเขตมีนบุรีได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินการ จัดซื้อพันธุ์ข้าว "สุพรรณบุรี 1" จากศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นพันธุ์ดีมีความต้านทานโรค มีอัตราการงอกสูง และมีคุณภาพในการหุงต้มดี เพื่อมอบให้เกษตรกรอาสาที่เข้าร่วมโครงการในเบื้องต้น จำนวน 15 ราย นำพันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี 1 ไปปลูกในปริมาณไร่ละ 2 ถัง นอกจากนี้ยังสนับสนุนปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 และสูตร 46-0 รวมทั้งสารกำจัดศัตรูพืชธรรมชาติ ปลอดสารพิษ สกัดจากสะเดาและสารจับใบ โดยระหว่างการปลูกนักวิชาการเกษตรของฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรอำเภอมีนบุรีจะออกไปดูแลแนะนำแก้ไขปัญหาตามหลักวิชาการแก่เกษตรกรอาสาเป็นระยะๆ หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเกษตรกรอาสาแต่ละรายจะนำเมล็ดพันธุ์ข้าวคืนให้ "กองทุนฯ" ในปริมาณเท่ากับที่ตนได้รับไป (ไร่ละ 2 ถัง) ทั้งนี้เกษตรกรอาจได้ผลผลิตถึงไร่ละ 40-50 ถัง พันธุ์ข้าวที่ "กองทุนฯ" ได้รับก็จะนำไปขยายผลโดยมอบให้เกษตรกรผู้ทำนารายอื่นๆ ในหลักการเดียวกันจนครอบคลุมพื้นที่
โครงการ "กองทุนหมุนเวียนพันธุ์ข้าว" จะทำให้เกษตรกรผู้ทำนามีทักษะความรู้ สามารถผลิตข้าวที่มีคุณภาพดีได้ผลผลิตสูง และขายข้าวได้ราคาดี สำหรับผู้บริโภคก็จะได้รับประโยชน์ที่ได้บริโภคข้าวที่มีคุณภาพปราศจากมลพิษอันเป็นการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนรวมอีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังช่วยภาคราชการในการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพได้มาตรฐานแก่เกษตรกรผู้ทำนาข้าวอีกด้วย
สะพานสูงชวนปั่นสองล้อชมวีถีชาวบ้านชานกรุง
นายวันชัย ทิวัฑฒานนท์ ผู้อำนวยการเขตสะพานสูง กล่าวว่า พื้นที่เขตสะพานสูงยังมีสภาพเป็นธรรมชาติ ประกอบด้วย ทุ่งนา คูคลอง และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ อันมีความสัมพันธ์กับวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นแบบไทย ๆ พื้นบ้าน เขตสะพานสูงจึงได้พิจารณาที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ราคาถูก โดยปัจจุบันเขตสะพานสูงได้ร่วมมือกับบริษัทท่องเที่ยวในพื้นที่ ให้บริการพานักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศท่องเที่ยวในพื้นที่เขต โดยการขี่จักรยานท่องเที่ยวเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวบ้าน ชาวชุมชนต่าง ๆ พร้อมชมธรรมชาติอันสวยงามของท้องทุ่งนาและคูคลองตลอดเส้นทางท่องเที่ยว รวมทั้งจะได้ชมของดีของเขตสะพานสูงอีกมากมาย
ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่เขตเฉลี่ยเดือนละประมาณ 600-700 คน ผลจากการที่มีชาวต่างประเทศมาท่องเที่ยวในเขตสะพานสูงนี้ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอาชีพอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก เช่น ธุรกิจเรือหางยาว ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งก่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนทำให้เศรษฐกิจและรายได้ของชาวบ้าน ชาวชุมชนและ ผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวดีขึ้น เป็นการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนในชุมชน ชาวบ้านทั่วไปเกิดความรักความหวงแหนท้องถิ่นของตนเอง และร่วมมือกันดูแลรักษาความสะอาดบริเวณคูคลอง ชุมชน ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ยังคงมีอยู่ให้คงอยู่ตลอดไป
ผู้อำนวยการเขตสะพานสูง กล่าวต่อว่า ในวันเสาร์ที่ 17 พ.ย.นี้ เขตฯ กำหนดจัดโครงการ "ขี่จักรยานท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์" ขึ้น โดยเชิญสื่อมวลชนสัญจรร่วมเส้นทางไปกับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เวลา 07.30 น. รถโดยสารจะออกจากศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) ไปยังจุดเริ่มต้นที่บริษัท หจก.บางกอก ทราเวลไบค์ ถนนราษฎร์พัฒนา เขตสะพานสูง เวลา 09.00 น. ขบวนจักรยานเริ่มเคลื่อนไปตามถนนราษฎร์พัฒนาเพื่อเยี่ยมชมบ้านไม้สักทรงไทย และวัตถุโบราณที่เจ้าของบ้านสะสมไว้มากมาย แล้วมุ่งสู่บึงน้ำ ซึ่งสำนักงานเขตสะพานสูงจะปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยว สำหรับเล่นเรือใบซุปเปอร์มด และให้เยาวชนได้ฝึกหัดกีฬาเรือใบ จากนั้นแวะชมการสาธิตการดำเนินงานโรงสีข้าวชุมชน และฟาร์มไก่แจ้ เลี้ยวเข้าเส้นทางเดินปูนริมคลองแม่จันทร์ ตื่นเต้นกับการปั่นสองล้อเลียบคลองบนทางกว้าง 1.2 เมตร เวลา 10.00 น. แวะดื่มน้ำ รับประทานอาหารว่างที่บ้านผู้ใหญ่ชาญ ก่อนชมแปลงสาธิตไร่นาสวนผสม จากนั้นปั่นต่อไปชมจุดที่จะพัฒนาเป็นตลาดน้ำในอนาคต และลงเรือไปขึ้นที่ท่าน้ำตลาดมีนบุรี รับประทานอาหารกลางวันแล้วจึงเดินทางกลับ
ลาดกระบังชูยุทธศาสตร์ 2 ส. สร้างนักกีฬาต้านยาเสพติด
นายจักรีนทร์ มานะสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง กล่าวถึงการส่งเสริมและสนับสนุนด้านกีฬาต้านยาเสพติดในพื้นที่เขตว่า เขตลาดกระบังได้กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญในการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดเพื่อสนองนโยบายรัฐบาลและนโยบายของ ผู้บริหารกทม. โดยอาศัยกีฬาเป็นสื่อเชิงรุกดึงเยาวชนออกห่างจากยาเสพติด คือ "ยุทธศาสตร์ 2 ส." ได้แก่ ส. ส่งเสริม และ ส. สนับสนุน ทั้งนี้เขตฯได้มีการส่งเสริมในด้านการกีฬา โดยการสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนหันมาเล่นกีฬา ดำเนินการโดย มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เขตและอาสาสมัครลานกีฬาเป็นผู้คอยแนะนำ เชิญชวนเยาวชนให้เกิดความรักหรือชอบในกีฬา และหันมาเล่นกีฬากันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จัดการแข่งขันกีฬา เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ได้แก่ การแข่งขันฟุตบอล 5 คน หรือ ฟุตซอล รวมทั้งหมด 108 ทีม ระหว่าง 21 ก.ค. - 12 ส.ค.44 ที่ผ่านมา จัดการแข่งขันเซปัคตะกร้อขึ้นระหว่างวันที่ 20-28 ต.ค.44 มีผู้เข้าแข่งขันทั้งสิ้น 60 ทีม มีนักกีฬากว่า 300 คน และยังคงจัดการแข่งขันกีฬาอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปีขณะเดียวกันเขตฯ ยังให้การสนับสนุนโดยการจัดหาสถานที่สำหรับการเล่นกีฬา ซึ่งขณะนี้พื้นที่เขตลาดกระบังมีลานกีฬาที่จดทะเบียนแล้ว 28 แห่ง แต่ละแห่งมีผู้มาใช้บริการเฉลี่ยวันละ 200-300 คน พร้อมกันนี้ยังได้สนับสนุนโดยการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ มาให้ เช่น ลูกฟุตบอล ตะกร้อ วอลเล่ย์บอล ลูกบาสเกตบอล ปิงปอง ตาข่ายกั้น ฯลฯ
"เป็นที่น่ายินดีว่า จากการใช้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการกีฬาให้กับเยาวชนและประชาชนในพื้นที่เขต ลาดกระบัง สามารถดึงเยาวชนและประชาชนทั่วไปหันมาออกกำลังกาย เล่นกีฬาเพิ่มมากขึ้น สังเกตได้เมื่อเดินทางผ่านลานกีฬา แต่ละแห่งในช่วงเย็นของทุกวัน จะมีผู้มาเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายจำนวนมาก รวมทั้งในพื้นที่ว่างอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นลานกีฬา ประชาชนก็ให้ความสนใจ ใช้เป็นที่ออกกำลังกายอยู่ทั่วไป อย่างไรก็ตาม นโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ออกกำลังกายหรือลานกีฬาให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง ถือเป็นสิ่งที่น่ายินดีและสำนักงานเขตลาดกระบังจะดำเนินการ เพื่อทำให้ประชาชนในพื้นที่มีพลานามัยที่สมบูรณ์ด้วยการหันมาเล่นกีฬา ออกห่างไกลจากยาเสพติดทุกชนิด สืบต่อไป" ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง กล่าวในตอนท้าย
เขตคลองสามวาเร่งหาตลาดรองรับสินค้าชุมชนสร้างรายได้ที่ยั่งยืน
นายทวีพร วรรณประภา ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา กล่าวถึง โครงการส่งเสริมหนึ่งชุมชน หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของเขตคลองสามวาว่า ปัจจุบันเขตคลองสามวามีชุมชนที่จดทะเบียน จำนวน 57 ชุมชน ลักษณะชุมชนส่วนใหญ่เป็นชุมชนชานเมือง (กึ่งเมืองกึ่งชนบท) ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมของเขตฯ ได้ส่งเสริมอาชีพของประชาชนจากภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีการดำเนินสืบทอดกันมา และส่งเสริมอาชีพใหม่ ๆ โดยการจัดฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น และการประสานจัดหาแหล่งจำหน่ายสินค้าของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ซึ่งแหล่งของดีที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาและนำรายได้มาสู่ชุมชนในพื้นที่เขตคลองสามวา มีหลายประเภท ประกอบด้วย ประเภทหัตถกรรมพื้นบ้านไทย เช่น เขาควายแกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นภูมิปัญญาของชุมชนที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ สามารถส่งออกไปต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น ไต้หวัน ผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีด ซึ่งกำลังเป็นตลาดใหญ่ที่จะ เติบโตขึ้นในอนาคต เช่น น้ำพริกจิ้งหรีด จิ้งหรีดทอด รสชาติอร่อย กำลังมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย น่าสนใจ เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและการแปรรูปอาหาร เช่น ผลไม้แช่อิ่ม บอระเพ็ดแช่อิ่ม และสินค้าเกษตร เช่น ดอกไม้จากเกล็ดปลา ดอกไม้ดิน เป็นต้น
สำนักงานเขตคลองสามวาร่วมกับกลุ่มแม่บ้านจัดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ณ บริเวณหน้าสำนักงานเขตคลองสามวา ถนนนิมิตใหม่ เป็นประจำทุกสิ้นเดือน นอกจากนี้ยังได้นำสินค้าไปจำหน่ายตามโครงการส่งเสริมการตลาดสินค้าชุมชน ณ ศูนย์การค้าต่าง ๆ และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเป็นการเปิดตัวสินค้าและเปิดโครงการส่งเสริมตลาดกรุงเทพมหานคร โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืนสม่ำเสมอ มีสินค้าที่สามารถขายได้ในระยะเวลาที่ยาวนาน ไม่ใช่เอามาขายได้เฉพาะช่วง เทศกาลเท่านั้น และพัฒนาศักยภาพของชุมชน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาชน
ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา กล่าวอีกว่า โดยฝีมือและความสามารถของคนในชุมชนนั้น สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับได้ การออกแบบบรรจุภัณฑ์หีบห่อให้ดูสวยงามมีระดับขึ้นก็สามารถทำได้ แต่ยังมีปัญหาเรื่องตลาดและช่องทางจำหน่ายสินค้าจากชุมชนจะต้องมีมากขึ้นกว่านี้เพื่อเป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชน ซึ่งเขตจะต้องร่วมกับสำนักพัฒนา ชุมชนหาช่องทางจำหน่ายสินค้าทั้งตลาดในและต่างประเทศต่อไป นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องหารือกันในกลุ่มเขตเพื่อพัฒนาสินค้าจากชุมชนให้เป็นเอกลักษณ์เพื่อจะได้ไม่แย่งตลาดกันเอง--จบ--
-นห-

แท็ก ลาดกระบัง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ